กรุงเทพฯ--1 มี.ค.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการสำหรับผู้ที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชนในบริบทที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้าราชการและบุคลากรของกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) มีความรู้ความเข้าใจกรอบการทำงานระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับกรมกิจการเด็กและเยาวชน มีความรู้และทักษะในการเข้าร่วมการประชุมในระดับนานาชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เข้าใจเกี่ยวกับมาตรการสากลและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงาน และเข้าใจในหลักพิธีการทูตและมารยาทสากล โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้แทนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ จากหน่วยงานต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ของกรมกิจการเด็กและเยาวชน จำนวนทั้งสิ้นประมาณ ๑๓๐ คน
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า ปัจจุบันการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ในฐานะผู้รับผิดชอบงานด้านสวัสดิการสังคมแก่ประชาชนชาวไทยและให้การดูแลคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิกลุ่มเป้าหมาย ทั้งด้านเด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส สตรี ผ้สูงอายุ และผู้พิการ ให้มาตรฐานความเป็นอยู่ของชาวไทยกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ดีขึ้นเทียบเท่าสากล ดย. เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจและต้องให้ความร่วมมือตามกรอบระหว่างประเทศ รวมถึงพันธกรณี พันธสัญญา และอนุสัญญาหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับปัญหาต่างๆ ทั้งในเรื่องของสิทธิมนุษยชน ปัญหาการค้ามนุษย์ ปัญหาเด็กเคลื่อนย้าย สิทธิเด็ก การไม่ใช้ความรุนแรงกับเด็ก และอนุสัญญาอีกหลายๆ ฉบับ เพื่อจัดตั้งมาตรฐานต่างๆ ให้เด็กและเยาวชนไทยมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอยู่เสมอ การบรรลุความร่วมมือและข้อตกลงดังกล่าวจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้แทนของหน่วยงานฯ ต้องมีความรู้ความเข้าใจและทันกับประเด็นปัญหา รู้เท่าทันและสามารถปรับเปลี่ยนตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของยุคโลกาภิวัตน์ ประเด็นระหว่างประเทศถือเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ทำงานด้านเด็กและเยาวชนต้องให้ความสนใจ
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่ออีกว่า การจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในครั้งนี้ จะช่วยให้บุคลากรของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยเฉพาะในส่วนของ ดย. มีความรู้ความสามารถและทักษะในการประชุมในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศด้วยกริยาท่าทาง ลักษณะและมารยาทที่เหมาะสมตามหลักสากล รวมถึงการมีโอกาสได้รับการฝึกอบรมเพิ่มทักษะและปรับพฤติกรรมการเข้าร่วมประชุมระหว่างประเทศได้อย่างเหมาะสม พร้อมทั้งเรียนรู้เท่าทันกับกรอบการทำงานระหว่างประเทศ ต่างๆ ที่สำคัญ เพื่อหลีกเลี่ยงการบีบบังคับและกดดันจากนานาชาติ เช่น ประเด็นการค้ามนุษย์ ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน หรือประเด็นที่ท้าทายและมีความอ่อนไหว เช่นประเด็นความหลากหลายทางเพศ (LGBT) หรือประเด็นการดำเนินงานเพื่อบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น งานด้านเด็กและเยาวชนในบริบทที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือระหว่างประเทศนั้นเป็นสาขาวิชา ที่มีความซับซ้อนหรือมีความเป็นสหสาขาวิชาชีพ จำเป็นอย่างยิ่งต้องมีผู้เกี่ยวข้องด้วยกันหลายหน่วยงาน
"สำหรับเนื้อหาหลักสูตรในการประชุมฯ ครั้งนี้ ประกอบด้วย การบรรยายพิเศษในหัวข้อ "ความสำคัญและการเตรียมความพร้อมบุคคลากร พม. เพื่อรองรับการเปลี่ยนในสหัสวรรษใหม่" และหัวข้อ "ความรู้ทั่วไปการดำเนินงานระหว่างประเทศ และความร่วมมือระหว่างประเทศ" และ "กรอบการดำเนินงานระหว่างประเทศที่สำคัญในสหัสวรรษใหม่วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs)" เวทีเสวนาเรื่อง "ภารกิจตามพันธกรณีและความร่วมมือระหว่างประเทศในความรับผิดชอบของสำนัก/กอง/ศูนย์ฯ ในสังกัดกรมกิจการเด็กและเยาวชน" "ประเด็นระหว่างประเทศในภูมิภาคที่เป็นข้อท้าทายสำหรับผู้ทำงานด้านเด็กและเยาวชน" "รูปแบบการประชุมระหว่างประเทศ แนวปฏิบัติ/พิธีทางการทูต และทักษะที่จำเป็นในการเข้าร่วมประชุมระหว่างประเทศ" "การอภิปรายมารยาทในการเข้าร่วมงานเลี้ยงและมารยาทบนโต๊ะอาหารแบบสากลและ ฝึกปฏิบัติทฤษฎีและการฝึกปฏิบัติด้านบุคลิกภาพ การแต่งกาย มารยาท และการวางตัวที่เหมาะสมในการเข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศ"พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวในตอนท้าย