งานเสวนาในหัวข้อ “ภาพรวมเครื่องประดับทองคำในประเทศไทย และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทยในตลาดโลก”

ข่าวทั่วไป Wednesday March 2, 2016 10:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 มี.ค.--ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์ อุตสาหกรรมทองคำไทยโชว์ความแกร่ง จี้ภาครัฐเร่งหนุนพัฒนาต่อเนื่อง ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมทองคำไทยจับมือกระตุ้นภาครัฐหนุนอุตสาหกรรมทองคำอย่างเร่งด่วน ย้ำไทยมีศักยภาพในการผลิตและส่งออกครบวงจร ชี้นำเงินกลับเข้าประเทศสูงเป็นอันดับสามรองจากอุตสาหกรรมรถยนต์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตั้งเป้าจัดตั้งคลัสเตอร์ผู้ผลิตทองคำไทยในอนาคต ภายในงาน 57th Bangkok Gems and Jewelry Fair ณ ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี มีการจัดงานเสวนากลุ่มย่อยภายใต้หัวข้อ "ภาพรวมเครื่องประดับทองคำในประเทศไทย และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทยในตลาดโลก" โดยมีภาคีสำคัญในอุตสาหกรรมทองคำไทย ได้แก่ นายแพทย์กฤชรัตน์ หิรัณยศิริ ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ กรรมการสมาพันธ์อัญมณีเครื่องประดับและโลหะมีค่าแห่งประเทศไทย และรองนายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ นายทรงเกียรติ วัฒนวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสพีซี พรีเชียส เมททอล จำกัด ผู้นำด้านการสกัดทองคำ (Gold Refinery) ในประเทศไทย และนายศิโรจน์ ประเสริฐผลประธานเจ้าหน้าที่การเงิน บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด ผู้ประกอบกิจการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำและเงิน จากการเสวนา พบว่าคนไทยมีอัตราการบริโภคทองคำระดับสูง โดยในปัจจุบันมีการซื้อทองคำเพื่อเก็บเป็นทรัพย์สินและลงทุนปีละกว่า 1 ล้านล้านบาท มีศักยภาพในการส่งออกทองคำไม่ขึ้นรูปกว่า 100,000 ล้านบาท และทองรูปพรรณ รวมทั้งอัญมณีอื่นๆ 140,000 ล้านบาท สามารถนำเงินกลับให้ประเทศสูงเป็นอันดับสาม รองจากอุตสาหกรรมรถยนต์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ นายแพทย์กฤชรัตน์ หิรัณยศิริ ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ กรรมการสมาพันธ์อัญมณีเครื่องประดับและโลหะมีค่าแห่งประเทศไทย และรองนายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับให้ความเห็นว่า "สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมทองคำไทย เราเป็นประเทศที่มีร้านทองมากเป็นอันดับสองรองจากอินเดีย คนไทยมีความชื่นชอบทองและมีการบริโภคทองมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยในปัจจุบัน ประเทศไทยบริโภคทองคำกว่า 100-300 ตันต่อปี จนต้องมีการนำเข้าทองคำมาจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย และฮ่องกงกว่า 150-200 ตันต่อปี" "ในด้านการส่งออกทองคำ ในปัจจุบันประเทศผู้ผลิต (Country of Origin) เป็นสิ่งที่ประเทศผู้นำเข้าให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ภาครัฐจึงควรให้เร่งสนับสนุนการผลิตทองคำตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกให้อุตสาหกรรมทองคำไทย และสามารถสร้างประโยชน์จากทรัพยากรแผ่นดินให้กลับมาเป็นเงินให้ประเทศของไทยในอนาคต"นายแพทย์กฤชรัตน์ กล่าว ในส่วนของขั้นตอนการสกัดทองคำ (Gold Refinery) ในประเทศไทย นายทรงเกียรติ วัฒนวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสพีซี พรีเชียส เมททอล จำกัด ผู้นำด้านการสกัดทองคำในประเทศไทยได้ให้ความเห็นว่า "ในอดีต ประเทศไทยยังไม่มีการสกัดทองคำเอง จึงต้องส่งทองคำที่ขุดได้ออกไปสกัดยังต่างประเทศ แต่ในปัจจุบันเราสามารถสกัดแร่ทองคำคุณภาพสูงได้เอง โดยในส่วนของบริษัท เอสพีซีฯนั้น เราเป็นโรงสกัดสินแร่อันดับห้าของโลกที่ได้รับใบรับรองคุณภาพ RJC (Responsible Jewelry Council) ซึ่งรับรองถึงแหล่งที่มาของสินแร่ที่สามารถบอกที่มาที่ไปได้ จนถึงการบริหารจัดการโรงสกัดแร่ที่ได้มาตรฐานโลก นอกจากนี้เรายังใช้เพียง 3 วันในการสกัดทองคำ ในขณะที่ในต่างประเทศใช้เวลา 1 อาทิตย์ ทำให้ช่วยลดต้นทุน และขั้นตอนในการส่งทองไปสกัดยังต่างประเทศได้ยิ่งขึ้น" "เรามีเหมืองแร่ทองคำ มีโรงสกัดทอง มีผู้ค้า ซึ่งครบกระบวนการของอุตสาหกรรมทองคำแล้ว จึงเป็นการดีที่จะสร้างให้เป็นคลัสเตอร์ (cluster) ทองคำ ที่จะมีศักยภาพดีกว่าประเทศอื่น เนื่องจากในประเทศ AEC เรามีความพร้อมที่สุดทั้งในส่วนฝีมือ แรงงานและต้นทุนที่จะแข่งขันกับกับตลาดโลก แต่ต้องอาศัยภาครัฐและเอกชนที่จะต้องทำงานร่วมกันให้มากขึ้น โดยดูตัวอย่างประเทศอิตาลีที่ประสบความสำเร็จในการทำ cluster ด้านอุตสาหกรรมนี้เป็นอย่างมาก" นายทรงเกียรติกล่าว สำหรับขั้นตอนการทำเหมืองแร่ทองคำ ที่ถือเป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรมทองคำไทย นายสิโรจน์ ประเสริฐผลประธานเจ้าหน้าที่การเงิน บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำและเงินที่ได้มาตรฐานสากลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย กล่าวว่า "จากการประเมินของนักธรณีวิทยา พบว่าประเทศไทยยังมีสินแร่ทองคำอยู่มาก แต่ต้องทำการสำรวจ โดยทางอัคราฯได้ยื่นขอประทานบัตรจำนวน 107 ใบเพื่อขยายการสำรวจมากว่า 8 ปี แต่เราจะต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐ เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องได้รับการควบคุมอย่างเข้มงวด จะเป็นเรื่องสำคัญที่ภาครัฐควรให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วน" "ผลกระทบจากการที่ขอประทานบัตรมากว่า 8 ปีแล้วยังไม่ได้ คือ ต้องมีการปลดพนักงานกลุ่มสำรวจออกหมด ทั้งที่ทางอัคราดำเนินธุรกิจอย่างมีมาตรฐานมาตลอด 15 ปีที่ผ่านมา เราได้รับ ISO 14000 ISO 18000 รวมทั้ง SA8000 (ความรับผิดชอบต่อชุมชน) หากรัฐไม่ให้ใบอนุญาต ลูกโซ่ของ cluster ทองคำหายไป ทรัพยากรในดินก็จะอยู่แต่ในดิน ไม่สามารถนำมาพัฒนาเพื่อนำมาใช้ได้ ศักยภาพของอุตสาหกรรมทองคำในประเทศไทยที่จะเติบโตและได้รับการพัฒนาจะหมดไปเช่นกัน ซึ่งในวันนี้หากทุกอย่างดำเนินไปตามที่เราคาดไว้ คือภาครัฐให้การสนับสนุน และเราได้รับใบอนุญาต ประทานบัตรเพิ่มเติม บริษัท อัคราฯ ก็พร้อมผลิตทองคำสู่ผู้ประกอบการไทยอย่างเต็มที่ ช่วยลดการนำเข้าทองคำจากต่างประเทศ ในขณะเดียวกันก็ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดเครื่องประดับทองคำอย่างประเทศอินเดีย ซึ่งจะได้สิทธิพิเศษทางภาษีหรือ FTA เป็นต้น" นายศิโรจน์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ