กรุงเทพฯ--17 ต.ค.--กทม.
นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า จากการที่กรุงเทพมหานครได้จัดงาน “มหกรรมชุมชนไทย ในบางกอก 2544” ขึ้น ระหว่างวันที่ 11-14 ต.ค.ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (โซนซี ชั้น 2) เพื่อเปิดตัวผลิตภัณฑ์ชุมชนจากภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักและยอมรับยิ่งขึ้น นำไปสู่การขยายตลาดทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งเป็นการสนองนโยบาย “กองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท” และ “หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์” ของรัฐบาล จากการประเมินผลและสำรวจข้อมูลตลอดทั้ง 4 วัน ปรากฎว่ามีผู้สนใจเข้าร่วมชมงานประมาณ 55,626 คน โดยเฉลี่ยแล้ววันละประมาณ 13,907 คน ซึ่งเกินเป้าหมายที่ได้ประมาณการไว้ประมาณ 10,000 คน/วัน และยังมียอดเงินหมุนเวียนในการซื้อ — ขายผลิตภัณฑ์ชุมชนภายในงานประมาณ 26,489,702 บาท เฉลี่ยแล้ววันละ 6,622,425 บาท โดยแต่ละคนใช้เงินในการจับจ่ายถึงวันละ 476 บาท
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า หลังจากเสร็จสิ้นงานในครั้งนี้แล้ว กทม.จะนำสินค้าที่จัดแสดงในงาน “มหกรรมชุมชนไทยในบางกอก 2544” และสินค้าจากชุมชนในกทม.ที่กำลังพัฒนาให้ได้คุณภาพมาตรฐานวางจำหน่ายยังตลาด 20 แห่งทั่วกทม. มีตลาดขนาดใหญ่บริเวณ RCA 1 แห่ง และอีก 19 แห่ง ได้แก่ ห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์พาร์ค พระราม 3 และบางแค เมอร์รี่คิงส์ สะพานควาย วงเวียนใหญ่และวังบูรพา อิมพีเรียล ลาดพร้าว จัสโก้ (เดิม) มีนบุรี ตึกช้าง ศูนย์การค้ามีนบุรี ตลาดน้ำมีนบุรี ตลาดธนบุรี บางกะปิ พลาซ่า ตลาดสิงหา ตลาดราษฎร์บูรณะ ตลาดประชานิเวศน์ ตลาดมหาโชค ตลาดเทวราช ตลาดพญาไม้ และตลาดรัชดาภิเษก โดยตลาดทั้ง 20 แห่งนั้น ชุมชนไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใดเป็นระยะเวลา 1 ปี และมีกำหนดจะเปิดตลาดดังกล่าว ในวันที่ 4 พ.ย.44 เพื่อรองรับชุมชนที่ต้องการตลาดในการขายสินค้า อีกทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้กับชุมชน ในกทม. อย่างแท้จริง
นางผ่องลักษณ์ วาสิกศิริ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาชุมชน กทม. (สนช.) กล่าวด้วยว่า การจัดงานในครั้งนี้ทำให้ทราบ ข้อมูลที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือ การส่งออกผลิตภัณฑ์ของชุมชนต่าง ๆ สู่ต่างประเทศ ได้แก่ เครื่องเงิน เขตบางรัก ส่งออกยังทวีปยุโรปและเอเชีย กล้วยไม้ เขตภาษีเจริญ ส่งออกยังประเทศฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่นและอเมริกาใต้ หัวโขนเล็กและศาลพระภูมิ เขตคลองสาน ส่งออกยังประเทศออสเตรเลีย และศิลปกรรมทองเหลืองและกล้วยไม้ เขตบางแค ส่งออกยังประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ชุมชนบางส่วนที่มีแนวโน้มในการส่งออก ได้แก่ เรือนไทยจำลอง เขตบางแค โคมไฟจากไม้ กระดาษสา ผ้าไม้ไผ่ เขตปทุมวัน และดอกไม้จากดินหอม เขตบึงกุ่ม เป็นต้น ซึ่งสินค้าเหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันถึงความพร้อมในการส่งอออกที่ได้มาตรฐานสากล นั่นหมายถึงการก้าวสู่การแข่งขันในตลาดทั่วโลก นำมาซึ่งเงินตราต่างประเทศสู่ประเทศไทยในที่สุด--จบ--
-นห-