ร่าง พ.ร.บ.การปฏิบัติเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีอากร พ.ศ. ....

ข่าวทั่วไป Thursday March 3, 2016 09:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2559 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการของร่างพระราชบัญญัติการปฏิบัติเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีอากร พ.ศ. .... (ร่างพระราชบัญญัติฯ) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยเป็นกฎหมายกลางที่ทำให้ประเทศไทยสามารถปฏิบัติตามความตกลงในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีกับรัฐบาลประเทศต่างๆ อาทิ ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อความร่วมมือในการปรับปรุง การปฏิบัติตามการภาษีอากรระหว่างประเทศและการดำเนินการตาม Foreign Account Tax Compliance Act (FATCA) ตลอดจนความตกลงอื่นในลักษณะเดียวกันที่ประเทศไทยจะทำความผูกพันในอนาคตได้ โดยร่างพระราชบัญญัติฯ มีสาระสำคัญ ดังนี้ 1. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจเสนอให้มีการตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และขั้นตอนในการดำเนินการตามความตกลงในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีที่ประเทศไทยทำกับแต่ละประเทศคู่สัญญาได้ 2. กำหนดอำนาจหน้าที่โดยทั่วไปของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ (Competent Authority) ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีระหว่างประเทศไทยกับประเทศคู่สัญญา 3. ให้อำนาจผู้มีหน้าที่รายงานส่งข้อมูลทางภาษีให้กับเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจและให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจมีอำนาจในการส่งข้อมูลดังกล่าวให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งตามความตกลงได้ 4. มีบทบัญญัติในการคุ้มครองการเปิดเผยข้อมูล มีบทกำหนดโทษ และมีการกำหนดให้มีคณะกรรมการเปรียบเทียบ ทั้งนี้ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับเมื่อพระราชบัญญัติมีผลใช้บังคับ คือ ประเทศไทยจะสามารถปฏิบัติตามความตกลงในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีได้ ซึ่งจะส่งผลให้สถาบันการเงินของไทยซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่รายงานหลักสามารถประกอบธุรกิจในต่างประเทศโดยไม่ถูกหักภาษีในอัตราที่สูง หรือมีข้อติดขัดในการประกอบธุรกิจ นอกจากนี้ ประเทศไทยจะได้ประโยชน์ในการได้รับข้อมูลแหล่งเงินได้ของบุคคลไทยในประเทศคู่สัญญาเพื่อนำมาใช้พัฒนาระบบการจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป สำนักกฎหมาย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3268

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ