กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--กรมควบคุมโรค
เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2559 ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นายแพทย์สมบัติ แทนประเสริฐสุข ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค พร้อมด้วยนายจอน อึ้งภากรณ์ ประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์, Dr.Tatiana Shoumilina UNAIDS, นายวชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์(ออกัส) ดารา/นักแสดง และนายอนันต์ เมืองมูลไชย ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี ร่วมแถลงข่าววันยุติการเลือกปฏิบัติ "เปิดใจ เข้าใจเอชไอวี...เราเป็นเพื่อนกันได้" โดยในปีนี้เป็นปีแรกที่ประเทศไทยร่วมรณรงค์การยุติการเลือกปฏิบัติ หลังจากที่โครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ เริ่มเชิญชวนประเทศต่างๆ เมื่อปี 2557 และได้กำหนดให้เป็นวันรณรงค์สากลเพื่อยุติการเลือกปฏิบัติ ตั้งแต่ปี 2557 โดย "ผีเสื้อ" ถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของการเชิญชวนให้ทุกคนเปิดใจ ร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลง เพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกที่ปราศจากการเลือกปฏิบัติ ให้สังคมตระหนักและช่วยกันยุติการเลือกปฏิบัติ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการยุติปัญหาเอดส์ภายในปี 2573
นายแพทย์สมบัติ แทนประเสริฐสุข ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากผลการสำรวจการตีตราและเลือกปฏิบัติในสถานบริการสุขภาพ 2 จังหวัด ในปี 2557 โดยภาพรวมพบว่ามากกว่าร้อยละ 60 มีความกังวลว่าจะติดเชื้อเอชไอวีจากการให้บริการผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์, มากกว่าครึ่งของผู้ปฏิบัติงานในสถานบริการสุขภาพ ใช้วิธีการป้องกันตัวเองมากกว่าปกติระหว่างการให้บริการผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ และ 1 ใน 5 (ร้อยละ 23) เคยสังเกตเห็นการเลือกปฏิบัติระหว่างการให้บริการผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
ซึ่งข้อมูลสถานการณ์การตีตราและการเลือกปฏิบัติ ชี้ให้เห็นว่าการตีตราและการเลือกปฏิบัติเกี่ยวกับเอดส์ยังคงมีปรากฏในสังคม และเป็นอุปสรรคที่ทำให้คนไม่เข้าสู่ระบบบริการดูแลรักษาและป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ดังนั้น เพื่อยุติปัญหาเอดส์ให้ได้ ภายในปี 2573 จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลด "การตีตราและการเลือกปฏิบัติ" โดยมาตรการตามแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์แห่งชาติ พ.ศ.2557-2559 ประกอบด้วย 2 มาตรการสำคัญ คือ 1. มาตรการในเชิงการป้องกันการละเมิดสิทธิด้านเอดส์ คือการสร้างความเข้าใจเรื่องการตีตราและการเลือกปฏิบัติในทุกระดับ ได้แก่ การรณรงค์สาธารณะ "เอดส์เป็นเรื่องธรรมดา" การสร้างความเข้าใจเรื่องการตีตราและเลือกปฏิบัติในสถานบริการสุขภาพ และเสริมศักยภาพผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี และ 2. มาตรการในเชิงการปกป้องคุ้มครองสิทธิ เพื่อแก้ไขการละเมิดสิทธิ ได้แก่ การพัฒนากลไก/คณะทำงานส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิระดับจังหวัด
นายแพทย์สมบัติ กล่าวอีกว่า กรมควบคุมโรค ได้ดำเนินการร่วมกับคณะอนุกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ โครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์แห่งประเทศไทย โดยในส่วนของกรมควบคุมโรค ได้เริ่มดำเนินการพัฒนารูปแบบการสร้างความเข้าใจและลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติในสถานบริการสุขภาพ โดยในปีแรกนี้ จะเริ่มดำเนินการในสถานบริการสุขภาพ เพราะเป็นหน่วยงานที่ให้บริการใกล้ชิดผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวี เพื่อจะเป็นตัวอย่างที่ดีในการให้บริการที่ปราศจากการตีตราและเลือกปฏิบัติ ซึ่งการลดการตีตราและเลือกปฏิบัติฯ ไม่ได้เกิดผลดีต่อผู้รับบริการอย่างเดียว แต่ยังเกิดผลดีต่อคนทำงาน เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างสุขใจ ไม่มีข้อกังวลการร้องเรียนเรื่องการละเมิดสิทธิของผู้รับบริการ อย่างไรก็ดี มาตรการสำคัญที่ต้องดำเนินการ คือ การสร้างสภาวะแวดล้อมมีความสำคัญ และโดยลำพังเพียงหน่วยงานภาครัฐที่จะรณรงค์สร้างความเข้าใจเรื่องเอดส์อย่างเดียว คงไม่พอ ดังนั้น อยากขอให้ทุกฝ่าย โดยเฉพาะสื่อมวลชนร่วมกันให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับสังคมว่า ขณะนี้ เอดส์ไม่ใช่โรคร้ายแรงที่ติดต่อกันได้ง่าย แต่ "เอดส์ รักษาได้" โรคเอดส์เป็นโรคธรรมดาเหมือนกับโรคเรื้อรังชนิดอื่นๆ และไม่ว่าจะมีเอชไอวีหรือไม่มี ทุกคนยังคงเป็นเพื่อนกันได้ อยู่ร่วมกัน ทำงานด้วยกันได้
นายจอน อึ้งภากรณ์ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ กล่าวว่า จากการร้องเรียนเรื่องการเลือกปฏิบัติและการละเมิดสิทธิด้านเอดส์ที่ได้รับเป็นจำนวนมาก คณะอนุกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์พบว่าในปัจจุบันแม้ผู้มีเชื้อเอชไอวีจะมีสุขภาพแข็งแรง มีอายุยืนยาว เนื่องจากการไดรับสูตรยาสมัยใหม่ และไม่ได้มีโอกาสแพร่เชื้อต่อผู้อื่นในชีวิตประจำวัน แต่การไม่เข้าใจของสังคมและการเลือกปฏิบัติต่อผู้มีเชื้อที่ไร้เหตุผลยังมีอยู่กว้างขวาง โดยเฉพาะยังมีนายจ้างเอกชนหลายรายยังบังคับผู้สมัครงานตรวจเลือดเอชไอวีและในกรณีที่พบว่ามีเชื้อก็ไม่รับเข้าทำงาน คณะอนุกรรมการฯได้ไปเจรจากับนายจ้างรายใหญ่ที่เป็นห้างที่มีสาขาทั่วประเทศ ประสบความสำเร็จ โดยนายจ้างตกลงยกเลิกการตรวจเอชไอวีในการตรวจสุขภาพผู้สมัครงาน แต่ยังมีนายจ้างอีกบางส่วนไม่ยอมเปลี่ยนนโยบายและยังละเมิดสิทธิโดยไม่รับผู้มีเชื้อเอชไอวีเข้าทำงาน
นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการยังพบว่ามีมหาวิทยาลัยเอกชนบังคับนักศึกษาตรวจเชื้อเอชไอวี ทั้งๆที่ขัดต่อแนวปฏิบัติของมหาวิทยาลัยทั่วโลกและมหาวิทยาลัยอื่นในประเทศไทย เมื่อไปพูดคุยปรึกษาหารือทางมหาวิทยาลัยไม่ยอมเปลี่ยนแนวปฏิบัติ ซึ่งเรื่องนี้ได้นำไปสู่คดีฟ้องร้องในศาลปกครอง นอกจากนี้ยังมีกรณีของโรงเรียนบางแห่งที่เลือกปฏิบัติต่อนักเรียนที่มีเชื้อเอชไอวี ซึ่งต้องอาศัยการทำความเข้าใจกับครูและผู้ปกครองจึงแก้ปัญหาได้ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันคณะอนุกรรมการฯกำลังศึกษาหามาตรการทางกฏหมายที่จะช่วยคุ้มครองสิทธิของผู้มีเชื้อเอชไอวีให้สามารถเข้าถึงการศึกษาและการจ้างงานเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป
ด้านนายวชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์ หรือ "ออกัส" นักแสดงวัยรุ่น เล่าถึงประสบการณ์และความรู้สึกในฐานะประชาชนทั่วไป ซึ่งได้เปลี่ยนความคิดความเชื่อเดิมที่เคยเห็นเคยได้ยิน ทำให้รู้สึกกลัว แต่เมื่อมีข้อมูลข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ก็ช่วยให้เข้าใจเอชไอวีได้ว่า จริงๆ ไม่ได้น่ากลัวหรือน่ารังเกียจ ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกัน เป็นเพื่อนกันได้ ไม่ว่าจะมีเชื้อเอชไอวีหรือไม่มีเชื้อเอชไอวีก็ตาม และสุดท้าย "ออกัส" ได้กล่าวเชิญชวนให้ทุกคนร่วมกันยุติการเลือกปฏิบัติ โดยเริ่มที่ตัวเราก่อน
ส่วนนายอนันต์ เมืองมูลไชย ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่คนในสังคมรู้และเข้าใจ ไม่รังเกียจ กีดกันและเลือกปฏิบัติต่อผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ย่อมเปิดโอกาสให้คนที่ประเมินความเสี่ยง ได้เข้าสู่กระบวนการคัดกรองหาการติดเชื้อและเข้าสู่กระบวนการการรักษาได้ทันท่วงทีที่รู้ว่าติดเชื้อ นั่นเท่ากับเป็นการรักษาทรัพยากรบุคคลที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในยามที่ประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและขาดแคลนบุคคลากรวัยแรงงาน วันนี้เรารู้ดีว่าสถานการณ์การติดเชื้อรายใหม่พุ่งไปที่เยาวชนและวัยเริ่มทำงาน ซึ่งเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศในอนาคต ดังนั้น ถ้าพวกเราเชื่อใน "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคน"และ"การมีศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ" ถ้าพวกเราเชื่อว่า"ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ" เราต้องเชื่อว่า เด็ก เยาวชน คนที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีช่วยพัฒนาประเทศได้