กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พลเอก ปัฐมพงศ์ ประถมภัฏ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังพิธีเปิดปฏิบัติการฝนหลวงประจำปี 2559 ณ สนามบินนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ประจำปี 2559 เพื่อแสดงถึงความพร้อมของบุคลากร เครื่องมืออุปกรณ์ การปฏิบัติการฝนหลวง เสริมสร้างขวัญกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ รวมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ผู้แทนส่วนราชการ เกษตรกร นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป และอาสาสมัครฝนหลวงในทุกภาคของประเทศ ได้ทราบถึงการปฏิบัติการฝนหลวง ตลอดจนเป็นวันปฐมฤกษ์ในการปฏิบัติการฝนหลวง ตามแผนปฏิบัติการ ประจำปี 2559 โดยกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การจัดพิธีสงฆ์ การจัดพิธีมอบปีกฝนหลวงพิเศษ พระราชทาน การเปิดปฏิบัติการฝนหลวง การจัดแสดงนิทรรศการของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรภายใต้แนวคิด "นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อบรรเทาภัยแล้ง" และนิทรรศการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน
พลเอก ปัฐมพงศ์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากปริมาณฝนตกในปี 2558 มีปริมาณต่ำกว่าเกณฑ์ โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคกลาง ทำให้พื้นที่ปลูกข้าวในลุ่มเจ้าพระยาเริ่มประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างมาก ตลอดจนปริมาณน้ำใช้งานของ 5 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีเหลือน้อย รวมกันไม่ถึง 25% ตลอดจนมีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันของเขื่อนทั่วประเทศ เพียง 13,449 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้จัดทำแผนปฏิบัติการฝนหลวงปี 2559 เพื่อเป็นการช่วยเหลือแก้ไขและบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร และเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กับเขื่อนต่าง ๆ โดยใช้อากาศยานเพื่อปฏิบัติการฝนหลวงทั้งสิ้น 30 ลำ ประกอบด้วย อากาศยานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จำนวน 22 ลำ และอากาศยานที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอากาศ จำนวน 8 ลำ จัดสรรตามความเหมาะสมในการปฏิบัติการแต่ละพื้นที่ โดยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคทั้ง 5 ศูนย์ มีแผนการดำเนินการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 10 - 12 หน่วยปฏิบัติการทั่วประเทศ เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้งและภัยพิบัติให้ครอบคลุม 25 ลุ่มน้ำหลัก ในพื้นที่ 77 จังหวัด ตามแผนปฏิบัติการ
"การปฎิบัติการฝนหลวงประจำปี 2559 จะมีการดำเนินการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็ว และมีการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงดูแลในทุกภาคส่วนของประเทศ เป็นที่มั่นใจว่าเกษตรกรจะได้รับการดูแลช่วยเหลือจากหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งมีการปรับแผนปฏิบัติการ และอาสาสมัครฝนหลวง ซึ่งเป็นเครือข่ายฝนหลวง ในการให้บริการที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น" พลเอก ปัฐมพงศ์ กล่าว