กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--อิมเมจ โซลูชั่น
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมกราคม 2559 หดตัวอีกครั้งหลังจากที่มีค่าเป็นบวกติดต่อกันมา 2 เดือน โดยในเดือนมกราคมดัชนีหดตัว ร้อยละ 3.3 เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หากเปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวกันของเดือนที่ผ่านมาจะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.25 อุตสาหกรรมสำคัญที่ลดลง คือ รถยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เหล็กและเหล็กกล้า ขณะที่ สินค้าน้ำมันพืช, น้ำมันเชื้อเพลิง, ผลิตภัณฑ์กระดาษ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.04 เนื่องจากความต้องการภายในประเทศเพิ่มขึ้น
นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในภาพรวมของเดือนมกราคม 2559 มีอัตราการหดตัวร้อยละ 3.3 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หากเปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวกันของเดือนที่ผ่านมาจะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.25 โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ลดลง อาทิ รถยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เหล็กและเหล็กกล้า เนื่องจากมีการจัดกิจกรรมกระตุ้นยอดขายในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ความต้องการรถยนต์ในประเทศหดตัว เป็นต้น
อุตสาหกรรมที่สำคัญ คือ อุตสาหกรรมรถยนต์ แม้การผลิตจะลดลงแต่การส่งออกยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยการผลิตรถยนต์ในเดือนมกราคม 2559 มีจำนวน 147,651 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.69 ยอดการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ มีจำนวน 51,821 คัน ลดลง ร้อยละ 13.23 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ยอดการส่งออกรถยนต์มีจำนวน 93,714 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.38 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
สำหรับการผลิตเหล็กและเหล็กกล้า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนภาวะการผลิตและจำหน่ายของเหล็กได้รับผลกระทบจากเหล็กสำเร็จรูปนำเข้าราคาถูกจากจีน และความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ ที่ยังคงชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ โดยการบริโภคเหล็กของไทยเดือนมกราคม 2559 มีปริมาณ 1.39 ล้านตัน ลดลง ร้อยละ 10.05 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
แม้ว่าอุตสาหกรรมบางส่วนจะมีการปรับตัวลดลง แต่ยังคงมีปัจจัยบวกจากตลาดต่างประเทศ ตลาดหลักที่กลับมามีการนำเข้าเพิ่มขึ้นในตลาด EU, สหรัฐ และญี่ปุ่น ส่งผลให้อุตสาหกรรมไฟฟ้า มกราคม 2559 ยังมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.34 กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ส่วนใหญ่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทั้งหมด เช่น เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่ง เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิต คอมเพรสเซอร์ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า
สำหรับสินค้าผักผลไม้ ปริมาณการผลิตและมูลค่าการส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 24.3 และ 19.7 ตามลำดับ เนื่องจากการเพิ่มการผลิตน้ำผลไม้และผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้งจากคำสั่งซื้อของกลุ่มอาเซียนและญี่ปุ่น การผลิตสับปะรดกระป๋องเพิ่มขึ้นตามปริมาณผลผลิตที่มีมากขึ้นและจากคำสั่งซื้อสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น
นอกจากนี้อุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศ ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องโดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.04 จากสินค้าน้ำมันพืช, น้ำมันเชื้อเพลิง, ผลิตภัณฑ์กระดาษ โดยในเดือนมกราคม 2559 การผลิตและจำหน่ายน้ำมันพืชเพิ่มขึ้นร้อยละ 60.25 และ 65.00 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการเพิ่มขึ้นทั้งสินค้าน้ำมันปาล์มดิบ และน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ เนื่องจากปาล์มดิบในปีนี้มีมากกว่าปีก่อน
เช่นเดียวกับการผลิตและจำหน่ายเยื่อกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมทั้งการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.88 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลง ทำให้มีการบริโภคสูงขึ้น
ด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มกราคม 2559 การผลิตผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอ มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.26 ในส่วนของเส้นใยสังเคราะห์ แต่ในส่วนของเส้นด้ายผลิตลดลงตามการผลิตผ้าผืนที่ลดลงถึงร้อยละ 10.06 ในขณะที่การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.08 ซึ่งเป็นการผลิตเพิ่มขึ้นทั้งในกลุ่มเสื้อผ้าถักและเสื้อผ้าทอตามความต้องการภายในประเทศ