กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา
ดร.นายแพทย์สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า จากกรณีกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจังหวัดสงขลาเกิดอุบัติเหตุจมน้ำ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บจากการสำลักน้ำ 11 ราย เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั้น เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดหรือช่วยลดเหตุการณ์ความสูญเสียจากการจมน้ำ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานประกอบการ หน่วยงานด้านสาธารณสุขในพื้นที่ รวมทั้งประชาชน ต้องร่วมมือกันดำเนินมาตรการสร้างความปลอดภัยในการเล่นน้ำอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะในช่วงนี้ซึ่งกำลังเข้าสู่หน้าร้อนและเข้าสู่ช่วงของการปิดเทอม
โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่น ควรให้ความรู้แก่ผู้ประกอบกิจการที่พัก หรือร้านอาหารบริเวณชายทะเล ให้ทราบหลักความปลอดภัยทางน้ำ การช่วยเหลือและการปฐมพยาบาลที่ถูกต้องแก่ผู้ที่ประสบภัยตกน้ำ หรือจมน้ำ ติดตั้งป้ายประกาศเตือนห้ามลงเล่นน้ำบริเวณที่ไม่ควรลงเล่นน้ำและให้ความรู้เกี่ยวกับบริเวณแอ่งกระทะที่มีคลื่นวนใต้น้ำ ติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์การแจ้งเหตุฉุกเฉินโทร 1669 บริเวณที่พัก ร้านค้า และชายทะเล สนับสนุนอุปกรณ์ช่วยชีวิตขั้นต้น เช่น เชือก เสื้อชูชีพ เป็นต้น ควรจัดเตรียมเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ความปลอดภัยบริเวณชายหาด และควรมีหน่วยกู้ชีพที่สามารถเข้าถึงเหตุการณ์ได้อย่างรวดเร็ว ในส่วนของสถานประกอบการจะต้องต้องสื่อสารกับผู้เข้าพักทุกครั้ง ถึงความปลอดภัยในการเล่นน้ำ
สำหรับประชาชนที่จะท่องเที่ยวทางทะเล ต้องติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา ศึกษาสถานที่ท่องเที่ยวว่ามีความเสี่ยงอย่างไรบ้าง ปฏิบัติตามคำแจ้งเตือนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากต้องการเล่นน้ำต้องว่ายน้ำเป็น มีทักษะการลอยตัว กรณีว่ายน้ำไม่เป็นให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันเช่นเสื้อชูชีพ กรณีเกิดเหตุคนที่อยู่ในน้ำต้องตะโกนร้องขอความช่วยเหลือ ส่วนคนที่อยู่ริมฝั่ง ต้องประเมินสถานการณ์ หากไม่สามารถช่วยเหลือโดยการโยน หรือยื่นสิ่งของให้คนที่จมน้ำได้ ต้องร้องขอความช่วยเหลือจากคนในพื้นที่หรือเจ้าหน้าที่ในบริเวณใกล้เคียง
หากเกิดอุบัติจมน้ำ ให้โทรศัพท์แจ้งที่หมายเลข 1669 หรือหน่วยพยาบาลใกล้เคียงโดยเร็วที่สุด และเริ่มการปฐมพยาบาลโดยจับคนจมน้ำนอนบนพื้นราบแห้งและแข็ง กรณีจมน้ำทะเลให้วางนอนบนชายหาด ตรวจดูว่ารู้สึกตัวหรือไม่โดยใช้มือ 2 ข้างจับไหล่ เขย่าพร้อมเรียกดังๆ กรณีไม่รู้สึกตัว ให้กดหน้าผาก เชยคาง เป่าปากช้าๆสม่ำเสมอ และกดนวดหัวใจโดยประสานมือวางส้นมือขนานกับแนวกึ่งกลางหน้าอก แขนตั้งฉาก กดหน้าอกความเร็ว 100 ครั้งต่อหน้าที เป่าปาก 2 ครั้ง สลับกับการนวดหัวใจ 30 ครั้ง จนกว่าจะรู้สึกตัว จากนั้นจับผู้ประสบเหตุนอนตะแคง ศีรษะหงายไปด้านหลังเพื่อให้น้ำไหลออกทางปาก เมื่อหายใจได้แล้ว ให้ห่มคลุมผู้ป่วยเพื่อให้ความอบอุ่น และนำส่งโรงพยาบาลทุกราย หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอุบัติเหตุจมน้ำ หรือการปฐมพยาบาลคนจมน้ำเบื้องต้นสามารถสอบถามได้ที่ โทร 1422 สายด่วนกรมควบคุมโรค