กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) คิดนอกกรอบ ก้าวไกลกว่างานสอนหนังสือ ผุดเมกะโปรเจกต์ บนอาคารเคเอกซ์ หรือ KX (Knowledge Exchange) อาคารมีชีวิตแห่งใหม่ย่านใจกลางเมือง ผนึกกำลังนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมยักษ์ใหญ่ภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเอสเอ็มอี กลุ่มอาหาร กลุ่มยานยนต์ กลุ่มไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มการแพทย์ แก้วิกฤตปัญหากับดักประเทศรายได้ปานกลาง
ประเทศจะพัฒนาไปข้างหน้ามีความจำเป็นจะต้องใช้ "ความรู้" เป็นเครื่องมือสำคัญในทุกๆ ด้าน ท่ามกลางความกดดันของสถาบันอุดมศึกษาที่ต้องเร่งผลิตบัณฑิตคุณภาพ สิ่งที่คาดไม่ถึงคือการมีสถาบันอุดมศึกษาคิดนอกกรอบยื่นมือเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศอย่างเอาจริงเอาจัง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาให้กับกลุ่ม SMEs
โดยรศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดเผยว่า ได้เปิดโครงการอาคารเคเอกซ์ หรือ KX (Knowledge Exchange) ซึ่งเป็น Open Collaboration Platform ทางความรู้ โดยที่อาคารแห่งนี้จะถูกบริหารจัดการให้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ดึงดูดให้ภาคเอกชนเข้ามาพูดคุยกันรวมถึงเป็นพื้นที่ให้มหาวิทยาลัยได้นำความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ลงสู่การแก้ไขปัญหาให้กับภาคธุรกิจเอสเอ็มอีได้อย่างเต็มความสามารถและครบวงจร
รศ.ดร.ศักรินทร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา มจธ. ทำหน้าที่ไม่ต่างจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ เพียงแต่ มจธ. ดำเนินภารกิจ 3 ด้านไปพร้อมกัน คือ ทำวิจัย นวัตกรรมและวิชาการ มุ่งมั่นผลิตบัณฑิตคุณภาพสูง และทำหน้าที่หาความรู้คือทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่มีคุณค่ามีความหมายต่อเศรษฐกิจ สังคมของประเทศร่วมมือกับภาคเอกชนในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันมายาวนาน ซึ่งพบว่าตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันประเทศมีความอ่อนแอทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก มจธ. ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานกับภาคธุรกิจเอกชน และภาคอุตสาหกรรม จึงคิดว่าถึงเวลาที่ มจธ. จะต้องลงมือทำบางอย่างเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นโดยเฉพาะกับเอสเอ็มอีและนำพาประเทศออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ไปพร้อมๆ กับการลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยวิธีการคือ มจธ.ได้พยายามชักชวนบริษัทใหญ่ๆ พูดคุยทำความเข้าใจให้เห็นว่าการพัฒนาและช่วยเหลือเอสเอ็มอีนั้นสำคัญอย่างไร ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยให้บริษัทใหญ่ๆ เหล่านั้นได้ซื้อของที่มีคุณภาพที่ดีขึ้น ราคาถูกลงเท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้กับธุรกิจของคนไทย ช่วยเหลือคนเล็กๆ ซึ่งก็จะหมายถึงประเทศชาติของเราด้วย
"การจะทำแบบนี้สำเร็จได้ แน่นอนว่าความสำคัญอยู่ที่การได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน เราต้องการยกสมรรถนะของเอสเอ็มอี ก่อนที่จะตกผลึกเป็นเรื่องนี้เราเดินสายคุยกับผู้บริหารระดับสูง/CEOของบริษัทเอกชนนับสิบราย หลายต่อหลายรอบ พูดคุยกับศิษย์เก่าของเราหลายคน ซึ่งทุกคนต่างก็เห็นไปในทิศทางเดียวกัน ในฐานะที่เราเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่อยากจะทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติ ในขณะที่เอสเอ็มอีในประเทศเรามีมากมายเป็นแสนๆ ราย กลไกของเราคือต้องทำงานร่วมกับคนที่มีเป้าหมายเดียวกันคือต้องการเห็นเอสเอ็มอีดีขึ้น นั่นก็คือภาครัฐ เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และบริษัทใหญ่ๆ ก็ต้องการพัฒนาซัพพลายเชนของเขา คือ กลุ่มเอสเอ็มอีให้ป้อนสินค้าดีมีคุณภาพ ราคาถูกลงให้กับบริษัทก็จะทำให้เอสเอ็มอีมีกำไรมากขึ้นด้วย ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์และเกิดการพัฒนา ดังนั้น มจธ.จะต้องร่วมมือกับบริษัทใหญ่ๆ ให้มาก และเข้าใจว่านี่คือประโยชน์ของประเทศชาติ ความร่วมมืออีกส่วนหนึ่งก็คือภาครัฐ ซึ่งมีหน้าที่สนับสนุนเอสเอ็มอีให้แข็งแรง กลไกที่เราทำขึ้นนี้รัฐต้องช่วยเหลือเราในเรื่องกิจกรรม เช่น ถ้าเอสเอ็มอีมีความต้องการที่จะพัฒนาตัวเอง บางครั้งเขาก็ต้องการผู้เชี่ยวชาญ แต่ไม่มีทุน ภาครัฐจะต้องเข้ามาช่วยอาจจะสัดส่วน 50:50 หรือ 70:30 ซึ่งปัจจุบันนี้มีทั้งสมาคมวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งประเทศไทย และ สสว.เข้ามาร่วมด้วย ส่วนภาคการศึกษาอย่าง มจธ. มีผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย และมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศอย่าง ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ ออสเตรีย อิหร่าน เป็นต้น เข้ามาร่วมกันที่จะวิจัยพัฒนานำความรู้มาแลกเปลี่ยนกัน สิ่งเหล่านี้เป็น Knowledge Exchange ที่เราเน้นย้ำเรื่องนี้มากและนั่นก็เป็นเหตุผลที่ว่าทำไม มจธ. จึงต้องสร้างตึกเคเอกซ์ขึ้นมา ขณะเดียวกันก็ตั้งใจออกแบบให้อาคารนี้มีบรรยากาศที่เอื้อให้เราทุกภาคส่วนสามารถทำภารกิจเพื่อชาติบ้านเมืองให้ได้เต็มความสามารถที่สุด"
เคเอกซ์ อาคารมีชีวิต
อาคารเคเอกซ์ มีความสูง 20 ชั้น พื้นที่ใช้สอยรวม 20,000 ตารางเมตรโดยประมาณ ภายในอาคารเป็นสถานที่ทำงานพบปะและจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ของหน่วยงาน 5 กลุ่ม ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม ภาคการศึกษา และสถาบันการเงิน ซึ่งอาคารถูกออกแบบให้มีความเป็นระบบนิเวศ (Eco system) ที่เอื้อต่อการสร้างนวตกิจ (Start ups) และการแลกเปลี่ยนความรู้ อาทิ พื้นที่ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) พื้นที่เพื่อกระตุ้นแนวคิดด้านดีไซน์ พื้นที่ทำงานของภาคธุรกิจที่เข้ามาเป็นสมาชิก พื้นที่ห้องประชุมสัมมนา พื้นที่จัดแสดงสินค้า ชิ้นงาน งานวิจัยและนวัตกรรมใหม่ๆ พื้นที่ของสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นภาคีเครือข่ายที่ทำงานวิชาการและงานวิจัยต่างๆ
อธิการบดี มจธ. ระบุว่า อาคารดังกล่าว ได้รับการออกแบบให้มีลักษณะสอดประสานเชื่อมโยงกันระหว่างพื้นที่แต่ละส่วน ตามแนวคิด Interlocking in Space เพื่อรองรับหลักการดำเนินงานภายในอาคารที่มุ่งให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของประชาคมจากภาคอุตสาหกรรม ภาคการศึกษาและภาครัฐ นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายเพื่อให้บริการวิชาการกับหน่วยงานภายนอกโดยการนำความรู้และนวัตกรรมของมหาวิทยาลัย และหน่วยงานเครือข่าย ไปสู่การใช้ประโยชน์โดยภาคอุตสาหกรรมในลักษณะของภาคีความร่วมมือ เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มีการออกแบบกิจกรรมต่างๆ ให้เกิดขึ้นในอาคาร เพื่อเป็นการบริการนำความรู้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีไปช่วยเหลือภาคธุรกิจอุตสาหกรรมของประเทศให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น อาทิ การให้คำปรึกษาและพัฒนาอุตสาหกรรมร่วมกัน ระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคอุตสาหกรรม 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มอาหาร กลุ่มยานยนต์ กลุ่มไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มการแพทย์ นอกจากนี้ยังผลักดันให้มีการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมใหม่ๆ มาพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์เพื่อให้เกิดผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในธุรกิจที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้สูง สร้างบุคคลที่มีความเป็น X Maker ในธุรกิจที่มีอิมแพคต่อรายได้ของประเทศ โดยมหาวิทยาลัยมีเครื่องมือและความรู้พร้อมให้คำปรึกษาและรองรับผู้ที่ต้องการพัฒนาธุรกิจอย่างเต็มประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ อธิการบดี มจธ.กล่าวด้วยว่า ภารกิจดังกล่าวข้างต้นนอกจากจะเป็นการช่วยเหลือภาคเศรษฐกิจของประเทศแล้วยังเป็นการช่วยให้มหาวิทยาลัยทำหน้าที่ในการผลิตบัณฑิตคุณภาพ โดยโครงการวิจัยและพัฒนา (Research & Development) ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะมีทั้งอาจารย์และนักศึกษาเข้ามาทำงานวิจัยร่วมกันกับภาคเอกชน เป็นการทำงานบนโจทย์จริงเพื่อแก้ไขปัญหาได้จริงและทำให้นักศึกษามีประสบการณ์จริงก่อนจบการศึกษาอีกด้วย
ความคืบหน้าล่าสุด มูลนิธิพัฒนานวัตกรรม มจธ. ร่วมกับบริษัทเอกชนชั้นนำ 4 แห่ง คือ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด บริษัท แอโรฟลูอิด จำกัด และบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท KX Consulting Enterprise Company Limited หรือ KCE ซึ่งเป็นโซเชียล เอ็นเตอร์ไพรส์ มีบทบาทในการบริหารกิจกรรมต่างๆ ของอาคารเคเอกซ์ให้เป็นไปตามเป้าหมาย พร้อมทั้งให้การสนับสนุนในด้านบุคลากรและการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางธุรกิจการบริหารจัดการและการให้งบประมาณทั้งในรูปเงินลงทุนและเงินบริจาค เพื่อให้ KCE ทำหน้าที่เป็น Marketing Arms ของมหาวิทยาลัยในการดำเนินการจัดกิจกรรมเพื่อให้อาคารเคเอกซ์เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อพัฒนานวัตกรรมตามแนวทางที่กำหนดร่วมกัน ปัจจุบันมีผู้ประกอบการธุรกิจสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกแล้วราว 40 ราย