กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ประธานกรรมการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก แถลงผลการดำเนินงานของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สถาบัน) ในปี 2558 ที่ผ่านมา และแผนการดำเนินงานในปี 2559 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2558 และแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2559
เศรษฐกิจไทยในปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 2.8 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.8 ในปีก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการใช้จ่ายภาครัฐที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการบริโภคภาครัฐขยายตัว ร้อยละ 2.2 และการลงทุนภาครัฐขยายตัวสูงที่ร้อยละ 29.8 ส่วนการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 2.1 โดยได้รับการสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวในเกณฑ์ดี สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2559 คาดว่าจะขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นร้อยละ 3.7 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.2 – 4.2) โดยได้รับปัจจัยหนุนจากมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ เช่น โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวประชารัฐ การลงทุนภาครัฐโดยเฉพาะโครงการลงทุนยกระดับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้านการคมนาคมขนส่ง และกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุนในปี 2559 ที่เพิ่มขึ้น
เสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินในปี 2558
ระบบสถาบันการเงินยังคงมีเสถียรภาพอยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่ง ณ สิ้นปี 2558 สถาบันการเงินทั้งระบบมีฐานะเงินกองทุนแข็งแกร่ง และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการจัดสรรกำไรเข้าเป็นเงินกองทุน ซึ่งในปี 2558 สถาบันการเงินมีกำไรสุทธิจำนวน 1.93 แสนล้านบาท ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 17.45 จากร้อยละ 16.83 ในปีก่อน และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Tier-1 Ratio) เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 14.60 จากร้อยละ 13.75 ในปีก่อน ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 2 (Tier-2 Ratio) ลดลงจากปีก่อนเล็กน้อยเป็นร้อยละ 2.87 จากการทยอยลดการนับเข้าเป็นเงินกองทุนตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ด้านสภาพคล่องระบบสถาบันการเงินมีอัตราสภาพคล่องร้อยละ 24.67 สูงกว่าอัตราร้อยละ 6 ที่กฎหมายกำหนดอยู่มาก สำหรับสินเชื่อของระบบสถาบันการเงิน ณ สิ้นปี 2558 มีจำนวน 13.23 ล้านล้านบาท แต่มีอัตราการขยายตัวชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจ โดย ณ สิ้นปี 2558 สินเชื่อขยายตัวได้ร้อยละ 2.71 จากปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.30 ด้านสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) เพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 2.56 จากร้อยละ 2.16 ในปีก่อน ขณะที่เงินสำรองสำหรับสินเชื่ออยู่ที่ 4.43 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 131 ของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ดังนั้นแม้ว่าสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จะเพิ่มสูงขึ้นบ้างแต่ไม่มากนัก และไม่ส่งผลกระทบต่อฐานะและความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน สำหรับเงินฝาก ณ สิ้นปี 2558 มีจำนวนทั้งสิ้น 12.31 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.46 จากสิ้นปี 2557
ฐานะของกองทุนคุ้มครองเงินฝากปี 2558
กองทุนคุ้มครองเงินฝาก ณ สิ้นปี 2558 มีจำนวน 1.13 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2557 จำนวน 3,604 ล้านบาท โดยในปี 2558 ได้รับเงินนำส่งจากสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองทั้งสิ้น (อัตราร้อยละ 0.01 ต่อปีของยอดเงินฝาก) 1,155 ล้านบาท ทั้งนี้ สถาบันได้นำเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงตามที่กฎหมายกำหนด เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง ตราสารหนี้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน เป็นต้น เพื่อให้กองทุนมีความมั่นคง และมีสภาพคล่อง รวมทั้งได้รับผลตอบแทนที่ดี
ผลการดำเนินงานตามแผนงานของสถาบันปี 2558
สถาบันมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพ เป็นที่เชื่อถือ เสริมสร้างความมั่นคงระบบสถาบันการเงิน และสร้างความมั่นใจของประชาชน โดยที่ผ่านมาได้มุ่งเน้นพัฒนาโครงการด้านต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ดียิ่งขึ้นตามบทบาทหน้าที่ และพันธกิจที่กฎหมายกำหนด ซึ่งครอบคลุมงานหลายด้าน ได้แก่
1. โครงการพัฒนาระบบปฏิบัติงานจ่ายคืนผู้ฝาก โดยพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานการรับยื่นคำขอและจ่ายคืนผู้ฝากจำนวนมากได้อย่างรวดเร็วกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชน
2. การจัดทำแนวทางการปฏิบัติงานและประสานความร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้สถาบันและธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถปฏิบัติงานตามพันธกิจของสถาบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทันท่วงที และป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับผู้ฝากเงิน
3. การประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับระบบคุ้มครองเงินฝากทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อให้ประชาชนผู้ฝากเงินและเจ้าหน้าที่สถาบันการเงินมีความเข้าใจและเชื่อมั่นในระบบคุ้มครองเงินฝาก ซึ่งถือเป็นมาตรการของรัฐในการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชน
4. การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งใน และต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาระบบคุ้มครองเงินฝาก โดยได้รับความร่วมมือจากกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด และบริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์กับสถาบันประกันเงินฝากต่างประเทศที่ได้มีการจัดทำบันทึกความร่วมมือด้วย อาทิ ประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ลาว และอินโดนีเซีย เป็นต้น
ยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินงานที่สำคัญของสถาบันปี 2559เพื่อให้บรรลุตามพันธกิจและมุ่งสู่มาตรฐานสากล สถาบันได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์เป็น 5 ด้าน ได้แก่
1. พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในระบบตาข่ายความมั่นคงทางการเงินของประเทศ
2. สื่อสารให้ประชาชนเข้าใจระบบการคุ้มครองเงินฝาก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการใช้บริการทางการเงิน และคุ้มครองประโยชน์ของผู้ฝากเงิน
3. ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันปัญหาระบบสถาบันการเงิน
4. พัฒนาระบบการจ่ายคืนเงินฝากที่ทันสมัยและรวดเร็ว
5. พัฒนาระบบชำระบัญชีให้มีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์ของเจ้าหนี้และผู้ฝากเงิน
สำหรับในปี 2559 สถาบันมุ่งเน้นพัฒนาระบบงานด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่องให้มีความพร้อมในการดำเนินงานตามพันธกิจให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเพื่อพัฒนาสู่มาตรฐานสากลของระบบคุ้มครองเงินฝากที่ดี โดยสถาบันจะดำเนินการในด้านต่างๆ ที่สำคัญ คือ
1. พัฒนาระบบปฏิบัติงานของสถาบันในการจ่ายคืนผู้ฝากให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พร้อมรับและตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล
2. เสริมสร้างความมั่นคงของกองทุนคุ้มครองเงินฝาก โดยการศึกษาแนวทางการลงทุนด้วยวิธีต่างๆ เพื่อสอดคล้องกับเงินกองทุนที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยยังคงคำนึงถึงความมั่นคง และสภาพคล่องเป็นสำคัญ
3. การประเมินความสอดคล้องการดำเนินงานระบบคุ้มครองเงินฝากของไทยกับหลักการสากล เพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงานให้ทัดเทียม มีประสิทธิภาพ และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
นอกจากนี้ สถาบันยังคงเน้นเรื่องการสื่อสารเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในระบบการคุ้มครองเงินฝากแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งประสานความร่วมมือกับสถาบันการเงินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเผยแพร่ข่าวสารความรู้ เพื่อให้ผู้ฝากเงินมีความเข้าใจ และเกิดความเชื่อมั่นในระบบการคุ้มครองเงินฝาก และความมั่นคงของระบบสถาบันการเงินอันจะเสริมสร้างความมั่นใจของประชาชนต่อระบบการเงินของประเทศยิ่งขึ้นต่อไป