กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) ในการประชุมครั้งที่ 2/2559 เมื่อวันจันทร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 ณ ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้เห็นชอบในหลักการให้ รฟม. ดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (ช่วงแคราย – มีนบุรี) และสีเหลือง (ช่วงลาดพร้าว – สำโรง) โดยมีวงเงินลงทุน 56,691 ล้านบาท และ 54,644 ล้านบาท ตามลำดับ
โดยรถไฟฟ้า 2 สายนี้ จะเป็นระบบรถไฟฟ้า Monorail ซึ่งรัฐเป็นผู้รับผิดชอบค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และให้ภาคเอกชนลงทุนค่างานโยธา ค่าระบบรถไฟฟ้าและขบวนรถไฟฟ้า และค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการ รวมทั้งบริหารการเดินรถและซ่อมบำรุง โดยให้เอกชนร่วมลงทุนเป็นระยะเวลา 30 ปี และเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสารและรับความเสี่ยงในด้านจำนวนผู้โดยสารของโครงการ ทั้งนี้ เนื่องจาก 2 โครงการนี้จะให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนงานโยธาแทนรัฐ ดังนั้น เพื่อให้สามารถดึงดูดเอกชนมาร่วมลงทุน จึงกำหนดให้เงินสนับสนุนแก่เอกชนแต่ไม่เกินมูลค่างานโยธาเท่านั้น โดยคณะกรรมการ PPP ได้มอบหมายให้ รฟม. ไปปรับกรอบวงเงินให้เป็นปัจจุบันและเหมาะสมมากขึ้น เพื่อเป็นการลดภาระเงินสนับสนุนของรัฐ ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการ งบประมาณในการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และกรอบวงเงินสนับสนุนที่ชัดเจนในเดือนมีนาคม 2559 ต่อไป
นอกจากนี้ คณะกรรมการ PPP ได้ติดตามความคืบหน้าของอีก 3 โครงการภายใต้มาตรการ PPP Fast Track ของกระทรวงคมนาคม ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (ช่วงหัวลำโพง - บางแค และช่วงบางซื่อ - ท่าพระ) และโครงการ Motorway สายบางปะอิน – นครราชสีมา และสายบางใหญ่ - กาญจนบุรี ซึ่งทั้ง 3 โครงการยังสามารถดำเนินการได้ตามกำหนด โดยโครงการ Motorway 2 โครงการ อยู่ระหว่างการทดสอบความสนใจของนักลงทุน (Market Sounding) และคาดว่าจะเสนอกระทรวงคมนาคมได้ในเดือนเมษายน 2559 นี้ สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ให้ความเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559
ทั้งนี้ คณะกรรมการ PPP ได้ขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพิจารณาโครงการให้เร็วขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามกำหนดเวลาภายใต้มาตรการ PPP Fast Track ต่อไป โดยโครงการร่วมลงทุนภายใต้มาตรการ PPP Fast Track5 โครงการ มีมูลค่าวงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้นประมาณ 334,000 ล้านบาท
คณะกรรมการ PPP ได้แก้ไขประเด็นปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินโครงการโรงผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Farm) และโรงงานขยะขนาดเล็ก ที่เกิดจากการดำเนินการตาม พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯปี 2556 แล้ว โดยการปรับปรุงขั้นตอนการดำเนินการของกิจการตามนโยบายรัฐบาลให้มีความกระชับและชัดเจนมากขึ้น เพื่อให้โครงการตามนโยบายรัฐบาลได้รวดเร็วมากขึ้น ทั้งนี้ สำหรับปัญหาและอุปสรรคในประเด็นอื่นๆให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
โดยนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ
ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ