กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์-
กรมโรงงานอุตสาหกรรม ลงพื้นที่สานสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีกับภาคประชาชน ในพื้นที่รอบคลองประเวศบุรีรมย์ จากกรณีได้รับการร้องเรียนปัญหาน้ำเน่าเสียจากชุมชนวัดสังฆราชา เขตลาดกระบัง บริเวณรอบคลองประเวศบุรีรมย์ เมื่อปลายปี 2558 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีบ้านเรือนกว่า 1,000 ครัวเรือน และโรงงานอุตสาหกรรม 47 โรง ซึ่งกรมโรงงานฯ ไม่นิ่งนอนใจ ลงพื้นที่ตรวจสอบ และเพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาร้องเรียนมลพิษน้ำ จึงได้จัดโครงการ สานเสาวนา "รักษ์น้ำ" กับ กรอ. ชุมชน และโรงงาน เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่โรงงานอุตสาหกรรม และประชาชนทั่วไป เกี่ยวกับการจัดการน้ำเสีย เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมระหว่างภาครัฐ ชุมชน และผู้ประกอบการโรงงานอย่างยั่งยืน โดยงานดังกล่าว มี ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมและรองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม นายมงคล พฤกษ์วัฒนา ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายสุชิน คุมมณี ประธานชุมชนวัดสังฆราชา ร่วมเสวนา งานจัดขึ้นในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559นี้ ณ ศาลาธรรมสุนทร วัดลานบุญ เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ
ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม รองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ? เมื่อปลายปี 2558 ที่ผ่านมา กรมโรงงานฯ ได้รับการร้องเรียนปัญหาน้ำเน่าเสียจากชุมชนวัดสังฆราชา บริเวณรอบคลองประเวศบุรีรมย์ เขตลาดกระบัง ทางกรมโรงงานฯ ได้นำทีมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจปัญหาน้ำเน่าเสีย เมื่อตรวจวัดค่าออกซิเจนละลายน้ำ (ค่าดีโอ) พบว่าน้อยกว่า 1 มิลลิกรัมต่อลิตร (ค่าดีโอต่ำกว่า 2 มิลลิกรัมต่อลิตร จัดว่าน้ำในแหล่งน้ำนั้นเน่าเสีย แต่น้ำสะอาดทั่วไปจะมีค่าดีโอประมาณ 4-7 มิลลิกรัมต่อลิตร) อีกทั้งมีคลองสาขามาบรรจบหลายสาย เช่น คลองหนึ่ง คลองสองต้นนุ่น คลองตานวย และมีการกั้นด้วยประตูระบายน้ำก่อนระบายสู่แม่น้ำบางปะกง ซึ่งพบว่าน้ำในคลองมีกลิ่นเหม็นทั่วพื้นที่ ทั้งนี้ ในพื้นที่ดังกล่าว มีบ้านเรือนอยู่โดยรอบกว่า 1,000 หลังคาเรือน และมีโรงงานประมาณ 47 โรง อาทิ โรงงานผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ โรงงานผลิตโลหะ โรงงานผลิตน้ำยาปรับผ้านุ่ม โรงงานซักอบรีด เป็นต้น ซึ่งกรมโรงงานฯ มั่นใจได้กำกับดูแลการบำบัดน้ำทิ้งทุกโรงงาน และไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงมีการดำเนินงานส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจระบบบำบัดน้ำเสียของโรงงานอย่างสม่ำเสมอ
ดร.พสุ กล่าวต่อว่า กรมโรงงานฯ โดยสำนักเทคโนโลยีน้ำและสิ่งแวดล้อมโรงงาน ได้จัดโครงการ สานเสาวนา "รักษ์น้ำ" ซึ่งเป็นความร่วมมือจาก 3 ฝ่าย คือ กรอ. ชุมชน และโรงงาน โดยให้ความรู้กับชุมชนและโรงงานด้านการจัดการน้ำเสีย และกำกับดูแลมลพิษน้ำ ควบคู่ไปด้วย เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจด้านการตรวจสอบและกำกับดูแลโรงงานด้านน้ำทิ้ง และการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างความสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่าง โรงงานอุตสาหกรรม และชุมชน เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมทั้ง 47 แห่ง เป็นแหล่งสร้างรายได้และกระจายรายได้ให้แก่คนในพื้นที่ ซึ่งเป็นการอยู่ร่วม กันแบบพึ่งพาซึ่งกันและกัน อย่างไรก็ตาม งานสานเสาวนา "รักษ์น้ำ" ระหว่าง กรอ. ชุมชน และโรงงาน ถือเป็นต้นแบบ ที่ดีของความร่วมมือ ระหว่าง รัฐ ชุมชน และผู้ประกอบการ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่อุตสาหกรรมและประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับการจัดการน้ำเสียและร่วมใจกันรักษาลำคลองจนเกิดความมั่นใจและลดความวิตกกังวล เกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากการมลพิษน้ำ โดยกรมโรงงานฯ จะติดตามการแก้ไขดำเนินงานและเร่งมาตรการป้องกันในอนาคต
จากข้อมูลพบว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดน้ำเสียเกิดได้หลายสาเหตุทั้งการทิ้งขยะจากครัวเรือน หรือจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ลักลอบปล่อยน้ำเสีย ซึ่งทำให้เกิดมลภาวะแก่แหล่งน้ำธรรมชาติและทำให้เกิดความสูญเสียต่อระบบนิเวศน์ ปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้นในแต่ละวันมีประมาณร้อยละ 80-90 ของปริมาณน้ำที่แต่ละคนใช้ (ค่าเฉลี่ยการใช้น้ำในกิจกรรมประจำวันคือ 200 ลิตรต่อคนต่อวัน) หรือประมาณ 9.6 ล้าน ลบ.ม. ต่อวันของทั้งประเทศ โดยคาดว่าปี 2560 จะมีปริมาณน้ำเสียทั้งหมด 11.2 ล้าน ลบ.ม. ต่อวันของทั้งประเทศ (ข้อมูลคาดการณ์จำนวนประชากรปี 2560 จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ) ซึ่งหากจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ปริมาณน้ำเสียก็อาจเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ในส่วนของกรมโรงงานฯ มีการกำกับตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายกรมโรงงานฯ สำหรับการจัดการมลพิษน้ำของโรงงาน คือ การควบคุมน้ำเสียตามมาตรฐานน้ำทิ้งโรงงาน โดยติดตั้งอุปกรณ์ส่งสัญญาณตรวจจับน้ำเสีย และจัดเตรียมบุคลากรด้านสิ่งแวดล้อมประจำโรงงาน รวมถึง การให้ความรู้ ความเข้าใจ ด้านการบำบัดน้ำเสียแก่โรงงานตลอดจนตรวจสอบดูแลอย่างสม่ำเสมอ พร้อมมีศูนย์รับเรื่องร้องเรียน และดำเนินการกับโรงงานที่มีน้ำทิ้งไม่เป็นไปตามมาตรฐานน้ำทิ้ง ดร. พสุ กล่าวสรุป
ทั้งนี้ งานเสวนาดังกล่าว มี ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายมงคล พฤกษ์วัฒนา ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสมคิด วงศ์ไชยสุวรรณ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และนายสุชิน คุมมณี ประธานชุมชนวัดสังฆราชา ณ ศาลาธรรมสุนทร วัดลานบุญ เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ สำหรับประชาชนหรือผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2202 4014-17 หรือเข้าไปที่www.diw.go.th หรืออีเมล์ pr@diw.mail.go.th