กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆนี้กระทรวงวัฒนธรรมจัดประชุมร่วมกับคณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เพื่อหารือและให้ความเห็นในหลักการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... จากพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 ที่เคยเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อพ.ศ. 2554 เบื้องต้น วธ. ได้รายงานการดำเนินงานของกรมศิลปากรตาม พ.ร.บ. ดังกล่าวว่า ปัจจุบันการจดแจ้งการพิมพ์สามารถทำได้ที่หอสมุดแห่งชาติ และสำนักศิลปากร ทั้ง 15 แห่งทั่วประเทศ โดยตั้งแต่ปี 2551-2558 มีการจดแจ้งรวม 2,268 ฉบับ แบ่งเป็น รับจดแจ้งที่สำนักหอสมุดแห่งชาติ จำนวน 1,790 ฉบับ และสำนักศิลปากรที่ 1 – 15 จำนวน 478 ฉบับ เบื้องต้น คณะอนุกรรมาธิการฯ ได้เสนอว่า ควรมีการควบคุมให้มีการจัดพิมพ์ตามวัตถุประสงค์ เนื่องจากสิ่งพิมพ์ที่แจกจ่ายหรืออยู่ในสังคมออนไลน์ยังไม่ได้มีการจดแจ้ง ตาม พ.ร.บ. จดแจ้งการพิมพ์ และยังไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจดแจ้งสื่อออนไลน์ อีกทั้งสื่อสิ่งพิมพ์บางแห่งไม่สามารถใช้โรงพิมพ์ตามที่จดแจ้งครั้งแรกได้ เนื่องจากโรงพิมพ์มีการปิดตัวลง ทำให้จะต้องมีการจดแจ้งใหม่ จึงควรจัดให้มีสถานที่จดแจ้งการพิมพ์เพื่ออำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ควรมีการจัดทำฐานข้อมูลสิ่งพิมพ์ที่มีการจดแจ้งแล้ว เพื่อใช้ตรวจสอบและเพื่อประโยชน์อื่นๆ ด้วย
นายวีระ กล่าวต่อว่า วธ. เห็นด้วยกับแนวทางที่คณะอนุกรรมาธิการเสนอหลายประเด็น ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการพิจารณาร่วมกันอีกครั้ง ซึ่งที่ประชุมมีมติที่ให้แก้ไข พ.ร.บ. จดแจ้งการพิมพ์ดังกล่าวและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับสื่อซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงวัฒนธรรม และจะต้องมีการปฏิรูปกระบวนการดำเนินการจดแจ้งการพิมพ์ ซึ่งจะมีการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมกับคณะอนุกรรมาธิการฯ โดยมีปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานคณะทำงาน ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม และอธิบดีกรมศิลปากร เป็นคณะทำงาน อย่างไรก็ตาม วธ. จะดำเนินการแก้ไขปัญหากรณีเร่งด่วนในเบื้องต้นก่อน ซึ่งมอบหมายให้กรมศิลปากร จัดทำฐานข้อมูลสิ่งพิมพ์ที่ได้รับการจดแจ้งผ่านระบบออนไลน์ เพื่อการสืบค้น ตรวจสอบ และเพื่อประโยชน์ด้านการตลาด รวมถึงจะพิจารณาแก้ไขปัญหาเรื่องสถานที่การจดแจ้งการพิมพ์ที่ไม่มีความเพียงพอ โดยอาจให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเฉพาะจังหวัดที่ไม่ได้เป็นที่ตั้งของสำนักศิลปากรที่ 1-15 เป็นผู้จดแจ้งการพิมพ์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนด้วย ทั้งนี้ จะมอบหมายให้กรมศิลปากร จัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการจดแจ้งการพิมพ์ให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดต่อไป