กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เกาะติดโครงการเพิ่มศักยภาพการปลูกมะพร้าวพันธุ์ดีทดแทนสวนเก่า เผย ภาพรวมเกษตรกรพึงพอใจในระดับมาก เกษตรกรมีการดูแลแปลงสาธิตที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการเป็นอย่างดี พร้อมพัฒนาให้เป็นจุดสาธิตและเรียนรู้ด้านการปลูกมะพร้าวพันธุ์ดีทดแทนสวนเก่าให้แก่เพื่อนเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงที่สนใจ
นางสาวจริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงโครงการเพิ่มศักยภาพการปลูกมะพร้าวพันธุ์ดีทดแทนสวนเก่าฯ ซึ่งกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ หรือกองทุน FTA ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณ โดยมีกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานในการขับเคลื่อนกิจกรรมของโครงการ เพื่อเพิ่มศักยภาพจากปัญหาสภาพสวนเสื่อมโทรม ต้นมะพร้าวอายุมากประสบปัญหาแมลงศัตรูมะพร้าว เช่น แมลงดำหนาม หนอนหัวดำ เป็นต้น
สำหรับการดำเนินกิจกรรม จะมีจัดทำแปลงสาธิตการปลูกมะพร้าวพันธุ์ดีทดแทนสวนเก่าที่มีอายุมากกว่า 40 ปี และอยู่ในพื้นที่ที่แมลงศัตรูมะพร้าวเคยระบาดและทำลายต้นเสียหาย โดยสนับสนุนต้นกล้ามะพร้าวพันธุ์ชุมพร 2 ปุ๋ยอินทรีย์ และปัจจัยการผลิตอื่นๆ ในการปลูกมะพร้าวในพื้นที่ 2 ไร่ ต่อเกษตรกร 1 ราย พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ลงติดตามให้คำแนะนำเป็นระยะ ซึ่งจากการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบัน มีเกษตรกรได้เข้าร่วมโครงการแล้ว 250 ราย กระจายอยู่ในจังหวัดเป้าหมายที่ถือว่าเป็นแหล่งปลูกมะพร้าวที่สำคัญ 4 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ที่พร้อมจะพัฒนาให้เป็นจุดสาธิตและเรียนรู้ด้านการปลูกมะพร้าวพันธุ์ดีทดแทนสวนเก่าและการดูแลรักษาสวนมะพร้าวจากปัญหาแมลงศัตรูมะพร้าวให้เกษตรกรในพื้นที่บริเวณใกล้เคียง
รองเลขาธิการ กล่าวต่อไปว่า จากการติดตามความก้าวหน้าระหว่างวันที่ 15 – 20 กุมภาพันธ์ 2559 และสำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรที่ร่วมโครงการ พบว่า เกษตรกรทุกรายได้ปลูกมะพร้าวพันธุ์ที่โครงการสนับสนุนในพื้นที่ของตนเพื่อเป็นแปลงสาธิตเรียบร้อยแล้ว และมีการทำลายต้นมะพร้าวที่อายุมากและเสื่อมโทรมแล้วประมาณ ร้อยละ 71 รวมทั้งเกษตรกรแต่ละรายจะมีการปลูกพืชแซมร่วมในแปลงตามความต้องการ เช่น มะนาว มะม่วง ทุเรียน ผักหวานป่า และชะอม เป็นต้น ต้นมะพร้าวที่ปลูกมีการเติบโตและสมบูรณ์เป็นปกติดี
ด้านความพึงพอใจต่อโครงการ พบว่า เกษตรกรมีความพึงพอใจในระดับมาก อย่างไรก็ตาม เกษตรกรเห็นว่า ยังมีโรคแมลงระบาดบ้างตามฤดูกาล สร้างความเสียหายต่อต้นมะพร้าวเล็กน้อย เช่น แมลงดำหนาม หนอนหัวดำ เป็นต้น ทั้งนี้ ขอให้หน่วยงานที่ได้ส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้อย่างต่อเนื่องพัฒนาแปลงสาธิตที่ได้รับการสนับสนุนให้เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับการปลูกมะพร้าวแก่เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงต่อไป