กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
หากจะกล่าวถึงระบบการศึกษาของประเทศที่พัฒนาแล้วระดับแถวหน้าของเอเชีย เช่น ประเทศเกาหลีใต้ ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาดีที่สุดอันดับ 1 ของโลก จาก The World Top 20 Education Poll โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศเกาหลีใต้ได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีการศึกษาดีที่สุดของโลกนั้น มาจากแนวคิดสำคัญว่า การศึกษาคือรากฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยรัฐบาลเกาหลีใต้ให้อำนาจแก่กระทรวงการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในการกระจายอำนาจทางการบริหารการศึกษาและจัดสรรงบประมาณตลอดจนอำนาจตัดสินใจและพัฒนาการศึกษาแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดูแล เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนแต่ละพื้นที่ได้อย่างตรงจุด ซึ่งจากการจัดการศึกษาในรูปแบบดังกล่าว ส่งผลให้ในปัจจุบันประเทศเกาหลีใต้ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาที่มีคุณภาพสูง และมีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษาในระดับนานาชาติ ซึ่งจากผลสำเร็จดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นบริหารจัดการกันเอง เพื่อสร้างความเข้มแข็ง มั่นคง ให้แก่ประเทศชาติได้
นางสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีเทศบาลนครภูเก็ต กล่าวว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นับเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษา อันเนื่องมาจากนโยบายกระจายอำนาจการจัดการศึกษาสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 289 ที่บัญญัติให้ อปท. มีสิทธิที่จะจัดการศึกษาอบรมและฝึกอาชีพตามความเหมาะสมและความต้องการภายในท้องถิ่นนั้น และเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาอบรมของรัฐ ตลอดจนสนับสนุนการจัดการการศึกษาของรัฐ เช่น ด้านงบประมาณและทรัพย์สิน และด้านวิชาการ เช่น การพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอน การระดมผู้รู้ในชุมชนให้มีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอน เป็นต้น ทั้งนี้ ขอยกตัวอย่างการจัดการศึกษาของจังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายองค์กรดำเนินตามพื้นที่ที่รับผิดชอบ เช่น เทศบาลนครภูเก็ตมีหน้าที่กำกับดูแลโรงเรียนเทศบาลที่มีจำนวนถึง 6 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนเทศบาลปลูกปัญญา โรงเรียนเทศบาลเมืองภูเก็ต โรงเรียนเทศบาลวัดขจรรังสรรค์ โรงเรียนเทศบาลบ้านบางเหนียว โรงเรียนเทศบาลบ้านสามกอง โรงเรียนเทศบาลพิบูลสวัสดี
โดยเทศบาลนครภูเก็ตได้กำหนดนโยบายการจัดการศึกษา 9 ข้อ ดังนี้ 1) วางแผนการศึกษาระยะยาว เพื่อให้อนาคตของผู้เรียนสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของจังหวัด 2) จัดการศึกษาของท้องถิ่นที่เน้นบริบทของพื้นที่เป็นต้นทุนสำคัญ 3) พัฒนาข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนและสถานศึกษา และบูรณาการงานของหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาวิเคราะห์ผู้เรียนเป็นรายบุคคล 4) พัฒนาการแนะแนวการศึกษาสู่เส้นทางอาชีพที่หลากหลายตามความต้องการแรงงานของภาคธุรกิจในท้องถิ่น 5) ส่งเสริมผู้เรียนที่ไม่เก่งวิชาการ ให้มีโอกาสทางการศึกษาที่มีกว่าร้อยละ 60 6) พัฒนาเทคโนโลยีควบคู่กับวัฒนธรรมและจริยธรรม โดยสร้างโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงผลงานสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง ๗) ส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต 8) ยกระดับการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายให้เป็นภาคีเครือข่ายด้านการศึกษาที่ครบวงจร และ 9) การกระจายอำนาจการบริหารจัดการให้สถานศึกษาดำเนินการร่วมกับคณะกรรมการภาคีเครือข่าย นางสมใจ กล่าว
ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) หรือ สมศ. กล่าวว่า ทั้งนี้จากการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ประจำปี พ.ศ. 2558 ที่จัดโดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิด "ก้าวข้ามขีดจำกัด...สู่สหัสวรรษแห่งคุณภาพ" ในหัวข้อ "การจัดการศึกษา ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" พบว่าจำนวนสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานทั่วไปในสังกัดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 841 แห่ง ได้รับการรับรองมาตรฐานในระดับคุณภาพดีและดีมากจากการประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอกรอบที่ 3 ( พ.ศ.2554-2558) ถึง 794 แห่ง
โดย สมศ. มีความมุ่งหวังว่าความเข้มแข็งของชุมชนและท้องถิ่น จะช่วยยกระดับการศึกษาของไทยให้มีคุณภาพดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และต่อไปในอนาคตระยะทาง ความห่างไกลจะไม่ใช่อุปสรรคในการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาเพราะชุมชน และท้องถิ่นจะเป็นตัวขับเคลื่อนและพัฒนาสถานศึกษาควบคู่ไปกับหน่วยงานระดับนโยบาย ซึ่งการบริหารการศึกษาและการจัดหลักสูตรของแต่ละโรงเรียน จะสอดคล้องกับนโยบายของท้องถิ่นนั้น ๆ ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะทำให้เยาวชนไทยเรามีคุณภาพทัดเทียมกันทุกพื้นที่ สามารถจัดหลักสูตรการเรียนการสอนที่ยืดหยุ่นเหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการที่หลากหลาย และวิถีชีวิตของท้องถิ่นได้ดีกว่า เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่ และมีจุดเน้นด้านการศึกษาที่เฉพาะเจาะจงได้ทั้งในเชิงกลุ่มเป้าหมายและในเชิงเนื้อหา รวมทั้งจุดเน้นในเชิงรูปแบบการจัดการศึกษาซึ่งสามารถกำหนดรูปแบบที่เหมาะสมกับเนื้อหาและกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจน จนสามารถสร้างเอกลักษณ์และริเริ่มนวัตกรรมทางการศึกษาได้จริง ศ.ดร.ชาญณรงค์ กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับคณาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือเข้าไปที่ www.onesqa.or.th