กรุงเทพฯ--4 มี.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายสัตวแพทย์ ไพโรจน์ เฮงแสงชัย รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ โดยมี พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ได้ประมาณการผลผลิตและตลาดไข่ไก่ ปี 2559 เพื่อเป็นข้อมูลในการกำหนดนโยบายและวางแผนการพัฒนาการเลี้ยงไก่ไข่ของประเทศ โดยปัจจุบันปริมาณการผลิตแม่ไก่ยืนกรงเฉลี่ยที่ 54.7 ล้านตัว ผลิตไข่ไก่เฉลี่ย 42.12 ล้านฟอง/วัน ซึ่งจากการพิจารณาของคณะกรรมการฯ คาดว่า ตลอดทั้งปี 2559 ปริมาณอุปสงค์และอุปทานของไข่ไก่จะมีปริมาณที่ใกล้เคียงกัน ทำให้ราคาไข่ไก่ค่อนข้างคงที่ มีความเหมาะสมระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค ขณะที่ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มที่เกษตรกรขายได้ในปัจจุบัน (ณ วันที่ 29 ก.พ.59) ราคาปรับตัวสูงขึ้นฟองละ 2.80 บาท และไข่ไก่ขายปลีกเบอร์ 3 เฉลี่ยฟองละ 3.35 บาท โดยเป็นราคาที่มีความเหมาะสมและเกษตรกรยอมรับได้
สำหรับแผนการผลิตในปี 2560 จะต้องพิจารณาตั้งแต่ปีนี้ เนื่องจากต้องเตรียมการนำเข้าไก่ไข่พ่อ-แม่พันธุ์ (P.S) โดยผู้เลี้ยงไก่ไข่พันธุ์จากเอกชนทั้ง 16 ราย ได้เสนอแผนนำไก่ไข่พ่อ-แม่พันธุ์ เข้าเลี้ยงรวมทั้งสิ้น 814,785 ตัว เพิ่มจากแผนนำเข้าปีที่แล้ว 684,878 ตัว หรือร้อยละ 19 ซึ่งที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นปริมาณที่สูง โดยปริมาณการนำเข้าไก่ไข่พ่อ-แม่พันธุ์ที่เหมาะสมควรอยู่ที่ประมาณ 600,000 ตัว จึงให้กรมปศุสัตว์ไปพิจารณาร่วมกับผู้ประกอบการทั้ง 16 รายดังกล่าว เพื่อกำหนดปริมาณนำเข้าที่เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของตลาด นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบให้กำหนดนโยบายฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่เพื่อการค้าต้องได้มาตรฐานฟาร์ม เพื่อเพิ่มศักยภาพแข่งขันการเปิดเสรีการค้าอาเซียน โดยให้กรมปศุสัตว์จัดทำแนวทางมาตรฐานฟาร์ม ว่าจะต้องมีระยะการปรับตัว ขนาดฟาร์ม และจำนวนการเลี้ยงขั้นต่ำที่ต้องได้มาตรฐานฟาร์มอย่างไร เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อย หรือเกษตรกรที่เลี้ยงไก่ไข่ตามวิถีชาวบ้าน
รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรณรงค์ส่งเสริมการบริโภคไข่ไก่ว่า ปัจจุบันการบริโภคไข่ไก่ของคนไทยยังไม่เข้าสู่เป้าหมายตามยุทธศาสตร์ไก่ไข่ ปี 2557-2561 ที่มีเป้าหมายว่าใน ปี 2561 จะรณรงค์ให้คนไทยบริโภคไข่ไก่ให้ได้ 300 ฟอง /ปี /คน แต่ปัจจุบันการบริโภคยังอยู่ในระดับ 200 ฟอง /ปี /คน จึงต้องสร้างความเข้าใจให้ผู้บริโภคได้รับทราบว่าการบริโภคไข่ไก่ไม่ได้มีอันตราย อย่างที่บางข่าวได้นำเสนอ อีกทั้งปัจจุบันทางการแพทย์ยืนยันว่าในกรณีคนปกติทั่วไปสามารถบริโภคไข่ไก่ได้วันละ 1 ฟองในทุกวัน หากสามารถกระตุ้นให้ประชาชนบริโภคเพิ่มขึ้นได้ จะส่งผลให้ทิศทางการเลี้ยงไข่ไก่และความมั่นคงของเกษตรกรผู้เลี้ยงไข่ไก่จะเพิ่มมากขึ้นด้วย