แนวโน้มตลาดเงิน ตลาดทุน และตลาดตราสารหนี้

ข่าวทั่วไป Monday June 20, 2005 09:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 มิ.ย.--ไทยธนาคาร
สำนักวิจัยมองว่าดัชนีหุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบ ๆ ถึงปรับตัวขึ้น มีแนวต้านที่ระดับ 700 จุด ส่วนเงินบาทคาดว่ามีแนวโน้มอ่อนค่าลง โดยคาดว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 41.00 — 41.20 บาท/ดอลลาร์
สำนักวิจัย ธนาคาร ไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) หรือ BT ได้เผยแพร่รายงานแนวโน้มตลาดเงิน ตลาดทุน และตลาดตราสารหนี้ในรอบสัปดาห์นี้ ( 20 - 24 มิ.ย. 48 ) โดยสำนักวิจัยมองว่า ในสัปดาห์นี้ดัชนีหุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบ ๆ ถึงปรับตัวสูงขึ้น เป็นผลจากการเข้าซื้อหุ้นขนาดใหญ่ของนักลงทุนต่างชาติและการซื้อเก็งกำไรระยะสั้นในหุ้นขนาดเล็กของนักลงทุนรายย่อย ขณะที่ระดับราคาน้ำมันและทิศทางค่าเงินบาทเป็นปัจจัยกดดันตลาด ส่วนมูลค่าการซื้อขายคาดว่าจะปานกลาง เนื่องจากนักลงทุนบางส่วนยังรอดูความชัดเจนของทิศทางตลาดหุ้นไทย โดยดัชนีหุ้นไทยในสัปดาห์นี้จะมีแนวรับอยู่ที่ 685 จุด และแนวต้านอยู่ที่ 700 จุด สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในสัปดาห์นี้ คือการเข้าซื้อเก็งกำไรหุ้นขนาดเล็กในระยะสั้น ๆ และหุ้นกลุ่มพลังงาน เช่น PTT , BANPU , TOP เป็นต้น
สำหรับทางด้านค่าเงินบาท สำนักวิจัยมองว่าเงินบาทจะมีแนวโน้มอ่อนค่าลง โดยคาดว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 41.00 — 41.20 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากเงินบาทจะยังถูกกดดันจากเศรษฐกิจไทยปี 48 ที่จะชะลอตัวลงมาก ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดได้ และปัญหาเงินเฟ้อ รวมทั้งราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทำให้การขาดดุลการค้าจะเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ในวันศุกร์สัปดาห์ก่อนหน้าเกิดแรงซื้อดอลลาร์มากจากบริษัทน้ำมันและรัฐวิสาหกิจเพื่อการชำระหนี้และป้องกันความเสี่ยง ในขณะที่ดอลลาร์จะถูกกดดันเช่นกันจากการขาดดุลการค้า เม.ย.ที่สูงถึง 5.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลอดจนยอดการค้าปลีก พ.ค.ที่ลดลง
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกประกาศหนังสือเวียนเพื่อขอความร่วมมือบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทุกแห่งให้จำกัดการกู้ยืมเงินบาทจากผู้มีถิ่นฐานอยู่นอกประเทศ โดยกำหนดวงเงินยอดคงค้างที่บล.จะกู้ยืมได้ไม่เกิน 50 ล้านบาทในกรณีที่เป็นการกู้เงินระยะสั้นไม่เกิน 3 เดือน และไม่มีธุรกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศรองรับ ทั้งนี้ เพื่อป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท สำนักวิจัย มองว่า มาตรการดังกล่าวจะช่วยป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินบาทในระยะสั้นและลดความผันผวนของค่าเงินบาทลงได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น ขณะที่การปฏิรูปเศรษฐกิจภายในให้แข็งแกร่งเพียงพอที่จะรับมือกับความผันผวนของปัจจัยแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกประเทศ คือ เกราะป้องกันค่าเงินบาทที่แท้จริง ซึ่งจะเป็นมาตรการสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศได้อย่างถาวร
ความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทถัวเฉลี่ยเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สรอ.
ม.ค.48 ก.พ. มี.ค. เม.ย. พ.ค. ครึ่งแรกมิ.ย.
อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย(บาท :ดอลลาร์สรอ.) 38.75 38.48 38.61 39.53 39.84 40.70
ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย
สำหรับภาวะการซื้อขายในตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์นี้ (20 - 24 มิ.ย. 48) คาดว่าการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนตลาดตราสารหนี้ไทยจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ทั้งนี้ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯที่ชัดเจนขึ้นหลังนายอลัน กรีนสแปน ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้กล่าวแถลงต่อสภาคองเกรสว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯยังมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ทำให้ตลาดกลับมามีความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งน้ำหนักของการคาดการณ์ของตลาดที่มีต่อแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯปรับตัวเพิ่มขึ้นในสัปดาห์นี้ และส่งผลให้อัตราผลตอบแทนตลาดตราสารหนี้ไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ