กรุงเทพฯ--7 มี.ค.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
รศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) พร้อมด้วย มร.ทาคายูกิ ฮายากาว่า ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค คอร์ปอเรชั่น, ศูนย์วิจัย อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี ร่วมลงนามในสัญญาความร่วมมือโครงการวิจัย เรื่อง ระบบบริหารจัดการพลังงานในอาคารซึ่งจะนำไปสู่การสร้างอาคารประหยัดพลังงาน วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้ทางวิศวกรรมและเทคโนโลยีเพื่อประโยชน์ต่อสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
การบริหารจัดการการใช้พลังงานภายในอาคาร (Building Energy Management System – BEMS) คือกระบวนการวางแผนการใช้พลังงานในอาคารอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะรวมถึงการงดใช้และการใช้น้อยที่สุดเท่าๆที่จะไม่ทำให้ประสิทธิภาพการทำกิจกรรมอื่นๆ (Productivity) ในอาคารต้องเสียหายลง หรือก่อให้เกิดผลเสียทางสุขภาพ ใดๆกับผู้ใช้อาคาร "ประสิทธิภาพ" (Efficiency) มีความสำคัญมากที่สุดของ BEM ดังนั้นการประหยัดพลังงานโดยไม่ใช้พลังงานเลย ถึงแม้จะดีที่สุดในแง่การประหยัดทรัพยากรแต่จะไม่ถือว่าเป็นการบริหารการใช้พลังงานที่เหมาะสม ถ้าหากการประหยัดที่ได้มาจะต้องแลกมาด้วยประสิทธิภาพการทำงานที่ด้อยลงของผู้ใช้อาคาร ประสิทธิภาพในความหมายของ BEM จะประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญคือ1) Efficient Purchasing 2) Efficient Equipment และ 3) Efficient Operation
ระบบบริหารจัดการพลังงาน นับเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาชุมชนเข้าสู่การเป็น Smart City ในภาพรวมของระบบบริหารจัดการพลังงานระดับชุมชน ( Community Energy Management Systems : CEMS) เริ่มต้นจากครัวเรือนด้วยการออกแบบให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ แล้วขยายต่อไปในชุมชนและกลายเป็นจังหวัด แล้วจึงขยายต่อไปในพื้นที่ใกล้เคียง โดยจะเพิ่มขนาดการผลิตพลังงานขึ้นตามปริมาณความต้องการใช้ของบ้าน ชุมชน โรงเรียน โรงพยาบาล อาคารสำนักงาน ตลอดจนถึงโรงงานอุตสาหกรรม เช่น จาก โซล่าร์ รูฟ ก็ปรับเปลี่ยนเป็นโซล่าร์ แพลนท์ หรือโซล่าร์ ฟาร์ม ขนาดใหญ่ พร้อมแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ที่สามารถเก็บสำรองกระแสไฟฟ้าปริมาณเพียงพอเพื่อป้อนสู่ชุมชนเมือง
ระบบบริหารจัดการพลังงานระดับชุมชน ประกอบด้วยระดับต่างๆ ดังนี้
1) ระบบการบริหารพลังงานประเภทที่อยู่อาศัย (House Energy Management Systems : HEMS)
2) ระบบการบริหารพลังงานประเภทอาคาร (Building Energy Management Systems : BEMS)
3) ระบบการบริหารพลังงานประเภทโรงงาน (Factory Energy Management Systems : FEMS)