กรุงเทพฯ--7 มี.ค.--กรมสุขภาพจิต
นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเนื่องในวันนักข่าวหรือวันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ ว่า เมื่อพูดถึงผู้มีปัญหาสุขภาพจิต หลายคนในสังคมอาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจ หรืออาจมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอยู่ โดยส่วนหนึ่งอาจจะมองว่า การป่วยเป็นการเสแสร้ง หรือแกล้งทำ น่าเบื่อหน่าย พฤติกรรมที่เกิดขึ้นบางอย่าง เช่น การฆ่าตัวตาย มักจะถูกมองว่าเป็นการกระทำของคนโง่ อ่อนแอไม่เข้มแข็ง เป็นการเรียกร้องความสนใจ และมักถูกเยาะเย้ย หรือซ้ำเติม เช่นเดียวกันกับปัญหาทางจิตส่วนหนึ่งก็ถูกมองว่าเป็นเรื่องที่แก้ไขไม่ได้ เป็นเรื่องของนิสัย หรือถ้าได้รับการรักษาก็รักษาไม่หาย รวมทั้ง ผู้ป่วยทางจิตที่เคยมีพฤติกรรมรุนแรงมาก่อน ก็ถูกมองว่าเป็นอันตรายต่อสังคมตลอดชีวิต ทำให้คนในชุมชนรู้สึกหวาดกลัว รังเกียจ ญาติก็รู้สึกอับอายที่มีผู้ป่วยทางจิตอยู่ในครอบครัว นอกจากนี้ ภาพต่างๆ ที่ปรากฏผ่านสื่อ เช่น การนำเสนอภาพผู้ป่วยจิตเวชที่มีพฤติกรรมรุนแรง ทำร้ายคนอื่น ซึ่งในความเป็นจริงมีเพียงส่วนน้อย หรือ การนำเสนอภาพหรือข่าวการฆ่าตัวตายซ้ำๆ ติดๆ กันหลายวัน รวมทั้ง การนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายของผู้มีชื่อเสียง การเผยแพร่ภาพยนตร์หรือละครที่มีบทพยายามฆ่าตัวตายหรือมีการฆ่าตัวตายที่แสดงวิธีอย่างละเอียด ตลอดจนการนำเสนอตัวละครหรือการใช้คำพูดที่ล้อเลียนผู้ป่วยทางจิต เช่น คนบ้า คนไม่เต็มบาท คนไม่ครบ คนไม่สมประกอบ คนน่ากลัว โรคจิต ล้วนก่อให้เกิดภาพลบตอกย้ำให้เกิดตราบาปต่อผู้มีปัญหาสุขภาพจิตและผู้ป่วยจิตเวชในสังคมมากยิ่งขึ้น ที่ถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการป้องกันปัญหาสุขภาพจิตและการฆ่าตัวตาย ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว โรคทาง จิตเวช ไม่ใช่ โรคร้าย ไม่ใช่ตราบาป ไม่ใช่เรื่องน่าละอาย สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และสามารถรักษาให้หายกลับคืนสู่สังคมได้อย่างมีคุณค่า
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า นอกจาก บุคลากรทางการแพทย์ ครอบครัว และ ชุมชน แล้ว สื่อมวลชน นับว่าเป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญ ที่จะช่วยสร้างสรรค์สังคมให้มีสุขภาพจิตดี ช่วยลดตราบาป สื่อสารอย่างสร้างสรรค์ให้เกิดความเข้าใจทางบวก ป้องกันปัญหาสุขภาพจิตและปัญหาการฆ่าตัวตายในสังคมได้ โดย
1. ระมัดระวัง การพาดหัวข่าว หรือนำเสนอภาพข่าวในลักษณะที่มีสีสัน เน้นหรือตอกย้ำ ให้ความโดดเด่น หรือ ดราม่า
ก่อให้เกิดความรู้สึกสะเทือนใจ ซ้ำเติมความทุกข์หรือโศกนาฏกรรมที่มากเกินไป
2. คำนึงถึงการนำเสนอข่าวที่อาจส่งผลต่อความรู้สึกหรือเกิดผลกระทบในทางลบต่อผู้ป่วย ญาติและผู้ใกล้ชิด ไม่ล่วงละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลที่ตกเป็นข่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิทธิมนุษยชนของเด็ก สตรี และผู้ด้อยโอกาส
3. สอดแทรกความรู้ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต เช่น การให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับอาการหรือโรคทางจิตเวช การนำเสนอสัญญาณเตือน แนวทางการดูแลจิตใจ การป้องกันปัญหา ตลอดจน การนำเสนอตัวอย่างด้านบวกแก่สังคม โดยสามารถขอความรู้หรือข้อแนะนำได้จากจิตแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ หรือนักวิชาการด้านสุขภาพจิต
4. ให้ข้อมูลแหล่งให้การช่วยเหลือด้านจิตใจ หน่วยงานให้บริการ หรือให้คำปรึกษา เช่น สายด่วนสุขภาพจิต1323 ที่ควรระบุอย่างชัดเจนในตอนท้ายของข่าว บทความ หรือละคร
5. ดูแลกายและใจของตัวเองให้ดีเพราะการติดตามทำข่าวแต่ละครั้งอาจได้รับความเครียดและความทุกข์ได้มาก แม้ว่าจะมีประสบการณ์สูงแล้วก็ตาม จึงอย่าลืมพูดคุย ระบายกับเพื่อนร่วมงาน เพื่อน คนในครอบครัว หรือหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือด้านจิตใจ