กรุงเทพฯ--8 มี.ค.--จีแบรน
งานประชุมวิชาการกล้วยไม้เอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 12ระหว่างวันที่ 19-27 มีนาคม 2559 ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี
ความเป็นมา
การประชุมวิชาการกล้วยไม้เอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Orchid Conference) เป็นการริเริ่มเมื่อปี พ.ศ. 2527 (ค.ศ. 1984) โดย ศ.ระพี สาคริก เป็นหนึ่งในผู้ริเริ่ม เพื่อมุ่งหวังให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่ออนุรักษ์ พัฒนากล้วยไม้ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก โดยเริ่มครั้งที่ 1 ที่ประเทศญี่ปุ่น จะมีการจัดการประชุมขึ้นทุกๆ 3 ปี ประเทศสมาชิกจะหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ ประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพ APOC ครั้งที่ 4 ที่จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ.2535
และในปี 2553 ศ.ระพี สาคริก ที่ปรึกษาด้านไม้ดอกไม้ประดับของกรมวิชาการเกษตร ได้เล็งเห็นถึงประโยชน์อย่างยิ่งในการนำเสนอให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานดังกล่าว กรมวิชาการเกษตรจึงได้จัดทำ โครงการเสนอต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และที่ประชุมคณะกรรมการกล้วยไม้เอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Orchid Committee) คณะกรรมการได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของวงการกล้วยไม้ไทย จึงเห็นชอบให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมครั้งที่ 12 ในปี พ.ศ.2559 นี้
คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2556 อนุมัติหลักการโครงการประชุมวิชาการกล้วยไม้เอเชียแปซิฟิก ในปี พ.ศ. 2559 มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมวิชาการเกษตร เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการ ในการดำเนินการจัดประชุม เพื่อเป็นการสานต่อกิจกรรมกล้วยไม้ของไทย ในการอนุรักษ์ พัฒนากล้วยไม้ไทยอย่างต่อเนื่องในฐานะประเทศสมาชิก แสดงศักยภาพกล้วยไม้ไทย ตลอดจนได้แลกเปลี่ยนทางวิชาการ เทคโนโลยีด้านกล้วยไม้เป็นสื่อสัมพันธ์และส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ สังคม ศิลปวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
วัตถุประสงค์
1.เพื่อการอนุรักษ์และศักยภาพการพัฒนากล้วยไม้ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
2.เพื่อแลกเปลี่ยนทางวิชาการ การศึกษา เทคโนโลยีด้านกล้วยไม้ในระดับชาติและนานาชาติ
3.เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ สังคม ศิลปวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ
กลุ่มเป้าหมาย มีผู้เข้าชมงานจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประมาณ 45,000 คน