กรุงเทพฯ--17 มี.ค.--ตลาดหลักทรัพย์
เน้นการเปิดเผยข้อมูลเปิดทางเลือกทั้งเกณฑ์กำไร รายได้ และมาร์เก็ตแคปให้ธุรกิจเข้าจดทะเบียนพร้อมเกณฑ์ DUAL LISTING ดึงธุรกิจไฮเทค
ตลาดหลักทรัพย์เร่งเครื่องเพิ่มสินค้า เสนอแนวทางปรับปรุงเกณฑ์รับหลักทรัพย์เน้นการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทให้ ก.ล.ต. พิจารณา เปิดให้บริษัทมี 3 ทางเลือกเข้าจดทะเบียนทั้งเกณฑ์กำไรสุทธิ รายได้ และมาร์เก็ตแคป เตรียมเสนอให้ธุรกิจที่ไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นต่างประเทศนำหลักทรัพย์มาจดทะเบียนควบในลักษณะ Dual Listing ได้ หวังเพิ่มความหลากหลายของสินค้าเพื่อดึงดูดเม็ดเงินจากผู้ลงทุน ชี้การส่งเสริมให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลเต็มที่เป็นมาตรการปกป้องผลประโยชน์ผู้ลงทุนที่มีประสิทธิผลสูงสุด
นายวิชรัตน์ วิจิตรวาทการ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ ประจำเดือนมีนาคม 2543 ว่าเพื่อดึงดูดให้บริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโตเข้ามาจดทะเบียนได้มากและรวดเร็วยิ่งขึ้น อันตรงกับเป้าหมายการพัฒนาสินค้าในตลาดหลักทรัพย์ให้มีความหลากหลายและน่าสนใจต่อการลงทุน ตลอดจนมีขีดความสามารถในการแข่งขันกับตลาดทุนในภูมิภาค คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ได้เห็นชอบแนวทางปรับปรุงเกณฑ์รับหลักทรัพย์ในส่วนผลการดำเนินงานเชิงตัวเลขให้เปิดกว้าง ยืดหยุ่นขึ้น แต่เน้นการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทอย่างเพียงพอให้ผู้ลงทุนทราบเพื่อประกอบการตัดสินใจ โดยเปิดให้มีแนวทางพิจารณารับบริษัทจดทะเบียนเพิ่มเป็น 3 ทางเลือก คือ เกณฑ์เรื่องกำไรสุทธิ (Profit-Based Criteria) เกณฑ์เรื่องรายได้จากการขาย (Sales-Based Criteria) และเกณฑ์มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization-Based Criteria) โดยบริษัทสามารถยื่นขอจดทะเบียนโดยใช้เกณฑ์ใดเกณฑ์หนึ่งที่เหมาะสมกับสถานภาพของตนเองได้ มีรายละเอียดดังนี้
ก) เกณฑ์กำไรสุทธิ (Profit-Based Criteria)บริษัทที่ยื่นคำขอจดทะเบียนอาจมี หรือ ไม่มีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานในปีที่ 1 และ 2 แต่ปีล่าสุดก่อนยื่นจดทะเบียนต้องมีกำไรสุทธิไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท
ข) เกณฑ์รายได้จากการขาย (Sales-Based Criteria)
บริษัทที่ยื่นคำขอจดทะเบียนมีรายได้จากการขายในปีล่าสุดก่อนยื่นจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท
ค) เกณฑ์มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization-Based Criteria)
มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) ของบริษัทที่ยื่นคำขอจดทะเบียน ต้องไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท
นอกจากนี้คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ยังเห็นชอบในหลักการให้ยกเลิกเกณฑ์เรื่องผลขาดทุนสะสม ลดระยะเวลาที่บริษัทต้องมีการบริหารงานภายใต้คณะบริหารชุดเดียวกันจากเดิม 3 ปีเหลือ 1 ปี ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการปรับโครงสร้างการบริหารงานของบริษัทหลายแห่งที่มีในขณะนี้ และยกเลิกข้อกำหนดเรื่องรายละเอียดเกี่ยวกับความสามารถในการดำรงสถานภาพการประกอบธุรกิจ การปรับตัวทางธุรกิจเพื่อลดการใช้ดุลยพินิจในการพิจารณารับหลักทรัพย์
นอกจากนี้เพื่อรองรับแนวโน้มที่บริษัทเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งอินเทอร์เน็ตและโทรคมนาคมในประเทศไทยแสดงความสนใจนำหลักทรัพย์ไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นต่างประเทศ คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ยังเห็นชอบในหลักการที่จะเปิดให้บริษัทสามารถนำหลักทรัพย์ที่ไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นต่างประเทศมาให้ตลาดหลักทรัพย์พิจารณาเพื่อรับจดทะเบียนในลักษณะ Dual Listing ได้ โดยมีเงื่อนไขว่า บริษัทจะต้องเปิดเผยข้อมูลตามมาตรฐานสากลเป็นที่ยอมรับของตลาดหลักทรัพย์ และผู้ลงทุนทั้งสองตลาดได้รับทราบข้อมูลที่เปิดเผยอย่างเท่าเทียมกัน
"จะเห็นว่าเกณฑ์รับหลักทรัพย์จดทะเบียนตามแนวทางปรับปรุงใหม่นี้ มีลักษณะเปิดกว้างขึ้น และเน้นให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลของบริษัท อันเป็นแนวปฎิบัติที่สอดคล้องกับตลาดหุ้นชั้นนำทั่วโลก ตลาดหลักทรัพย์เชื่อมั่นว่าการที่บริษัทเปิดเผยข้อมูลสำคัญอย่างเต็มที่และผู้ลงทุนติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด มีข้อมูลเพียงพอประกอบการวิเคราะห์ตัดสินใจเป็นมาตรการปกป้องผลประโยชน์ของผู้ลงทุนที่มีประสิทธิผลสูงสุด" นายวิชรัตน์กล่าว
กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์กล่าวย้ำในตอนท้ายว่า จำเป็นต้องเร่งเพิ่มจำนวนสินค้าให้มีความหลากหลายทั้งในด้านจำนวน ขนาดและประเภทธุรกิจ การผ่อนปรนหลักเกณฑ์รับหลักทรัพย์ให้ยืดหยุ่นขึ้นในเรื่องผลการดำเนินงานเชิงตัวเลข โดยเปิดให้มีเกณฑ์พิจารณารับหลักทรัพย์เป็น 3 ทางเลือกจะช่วยดึงดูดให้บริษัทเข้ามาจดทะเบียนเพิ่มขึ้น เพราะบริษัทมีทางเลือกที่เหมาะสมกับสภาพการดำเนินธุรกิจ
ของตน นอกจากนี้ การเสนอให้มีเกณฑ์รับหลักทรัพย์ในลักษณะ Dual Listing ยังจะช่วยดึงธุรกิจสื่อสารไฮเทคโนโลยีให้เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจประเภทนี้ในปัจจุบัน ทั้งนี้จะได้ประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างรวดเร็วและทันท่วงที เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและความน่าสนใจของตลาดทุนไทยในสายตาผู้ลงทุนทั้งชาวไทยและต่างประเทศ
ทั้งนี้ตลาดหลักทรัพย์จะนำแนวทางปรับปรุงเกณฑ์รับหลักทรัพย์ทั้งหมดเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. เพื่อขออนุมัติ และ เสนอแก้ไขข้อบังคับที่เกี่ยวข้องต่อไป (มีต่อ)