บอร์ดบีโอไอปรับนโยบายส่งเสริม อุตฯ อิเล็กทรอนิกส์-เครื่องใช้ไฟฟ้า หวังจูงใจลงทุนต่อเนื่องระยะยาว—ดันไทยเป็นฐานการผลิตในอาเซียน

ข่าวเทคโนโลยี Thursday December 8, 2005 12:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ธ.ค.--บีโอไอ
บอร์ดบีโอไอเห็นชอบให้ปรับนโยบายส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อจูงใจโครงการลงทุนขนาดใหญ่และโครงการลงทุนต่อเนื่องระยะยาว สร้าง Supply Chain ใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ และมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีมากขึ้น โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ทั้งโครงการลงทุนปกติ และโครงการลงทุนต่อเนื่องระยะยาว เพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตในภูมิภาคอาเซียน
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบอร์ดบีโอไอ (วันที่ 8 ธันวาคม 2548) ว่า เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน ตามนโยบายของรัฐบาล ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้บีโอไอปรับนโยบายส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อให้มีมาตรการกระตุ้นและจูงใจให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องระยะยาว และช่วยสร้าง Supply Chain โดยมีการใช้ชิ้นส่วนในประเทศและมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีในประเทศมากขึ้น
ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้บีโอไอปรับสิทธิประโยชน์ใหม่ โดยแบ่งออกเป็น 2 กรณีคือ กรณีที่เป็นโครงการลงทุนปกติ และกรณีที่เป็นโครงการลงทุนต่อเนื่องระยะยาว ซึ่งในส่วนของโครงการลงทุนปกติที่จะลงทุนผลิต Hard Disk Drive (HDD) และชิ้นส่วน HDD และ Integrated Circuit (IC) และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม (รายละเอียดตามตารางที่ 1) และจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม รวมทั้งได้รับการยกเลิกการจำกัดวงเงินที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล หากดำเนินการตามหลักเกณฑ์การถ่ายทอดความรู้ ทักษะ และนวัตกรรมแก่ประเทศไทย (รายละเอียดตามตารางที่ 2)
นอกจากนี้เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง ที่ประชุมยังเห็นชอบให้บีโอไอยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร และอนุญาตให้ผู้ประกอบการนำเข้าเครื่องจักรมาใช้เพื่อปรับปรุงและทดแทนเครื่องจักรเดิมได้ ไม่ว่าจะเปิดดำเนินการเต็มโครงการหรือไม่ก็ตาม ตลอดระยะเวลาที่ได้รับส่งเสริม
สำหรับการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ในกรณีการลงทุนต่อเนื่องระยะยาว นายสมคิดกล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ปรับสิทธิประโยชน์ในส่วนของภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปีในเขต 1 และได้รับยกเว้น 6 ปีในเขต 2 (นอกนิคม) และได้รับยกเว้น 7 ปีในเขต 2 (ในนิคมหรือเขตอุตสาหกรรม) และได้รับยกเว้น 8 ปีในเขต 3 พร้อมทั้งจะขยายเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลของโครงการระยะแรกๆ ให้สิ้นสุดพร้อมกับระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลของโครงการสุดท้าย
ทั้งนี้ การส่งเสริมการลงทุนระยะยาวต่อเนื่อง มีเงื่อนไขว่า ผู้ขอรับส่งเสริมจะต้องเสนอแผนการลงทุนต่อเนื่องระยะยาว 5 ปี พร้อมกับแผนการใช้วัตถุดิบหรือชิ้นส่วน ภายใต้ชื่อนิติบุคคลเดียวกัน หรือหากใช้ชื่อนิติบุคคลต่างกันต้องเป็นผู้ถือหุ้นกลุ่มเดียวกัน และจะต้องมีขนาดการลงทุนของทุกโครงการไม่น้อยกว่า 15,000 ล้านบาท และโครงการลงทุนระยะต่างๆ จะต้องเป็นการผลิตผลิตภัณฑ์ที่อยู่ใน Supply Chain อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ฟ้า รวมทั้งผู้ลงทุนระยะยาวต่อเนื่องจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้เพิ่มเติมหากมีการพัฒนาด้านทักษะ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (รายละเอียดตามตารางที่ 3) เพราะตามเงื่อนไขได้กำหนดว่า เมื่อลงทุนถึงโครงการสุดท้าย จะต้องดำเนินการตามเงื่อนไขด้านทักษะ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
ตารางที่ 1 การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลกรณีโครงการลงทุนปกติ
เขต 1 เขต 2 เขต 3
นอกนิคม ในนิคม นอกนิคม ในนิคม นอกนิคม ในนิคม
- 3 3 7 8 8
5 5 6 7 8 8
หมายเหตุ: ระยะเวลาการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามสิทธิประโยชน์เดิม
ระยะเวลาการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามสิทธิประโยชน์ใหม่
ตารางที่ 2 การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมตามหลักเกณฑ์ STI
เงื่อนไข สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ
มีค่าใช้จ่าย STI ไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 ของยอดขาย ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เพิ่ม 1 ปี
รวม 3 ปีแรก หรือไม่น้อยกว่า 150 ล้านบาท ไม่จำกัดวงเงินที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้
มีค่าใช้จ่าย STI ไม่น้อยกว่าร้อยละ 2 ของยอดขาย ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เพิ่ม 2 ปี
รวม 3 ปีแรก หรือไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท ไม่จำกัดวงเงินที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้
มีค่าใช้จ่าย STI ไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของยอดขาย ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เพิ่ม 3 ปี
รวม 3 ปีแรก หรือไม่น้อยกว่า 450 ล้านบาท ไม่จำกัดวงเงินที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้
ตารางที่ 3 เงื่อนไขสำหรับการดำเนินการด้าน STI สำหรับการลงทุนต่อเนื่องระยะยาว
เงื่อนไข STI
- ต้องมีค่าใช้จ่ายด้านวิจัยพัฒนาออกแบบ
- ต้องมีค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีขั้นสูง
- ต้องมีค่าใช้จ่ายสนับสนุนสถาบัน การศึกษา หรือสถาบันวิจัยที่บีโอไอเห็นชอบ
เขต 1
2% ของยอดขายรวมทุกโครงการในระยะเวลา 3 ปีแรก นับแต่วันที่เริ่มมีรายได้ของโครงการสุดท้าย หรือไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท
เขต 2
1.5% ของยอดขายรวมทุกโครงการในระยะเวลา 3 ปีแรก นับแต่วันที่เริ่มมีรายได้ของโครงการสุดท้าย หรือไม่น้อยกว่า 400 ล้านบาท
เขต 3
1% ของยอดขายรวมทุกโครงการในระยะเวลา 3 ปีแรก นับแต่วันที่เริ่มมีรายได้ของโครงการสุดท้าย หรือไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ