กรุงเทพฯ--9 มี.ค.--กระทรวงวัฒนธรรม
พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เปิดเผย เมื่อเร็วๆนี้ ว่า ทีมไทยแลนด์ โดยกระทรวงวัฒนธรรม สถานกุงสุลใหญ่เมืองมุมไบ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิภาพยนตร์ของไทย ได้ประชุมหารือร่วมกับผู้บริหารของอินเดีย ได้แก่ มุขมนตรีเมืองมุมไบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรม ถึงความร่วมมือเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนและการจัดนิทรรศการ ศิลปวัตถุ และโบราณวัตถุ รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยปีที่ผ่านมาชาวอินเดียมาเที่ยวเมืองไทย กว่า 1 ล้านคน ซึ่งในปี 2559 นี้ มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะเมืองภูเก็ตเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม จึงควรส่งเสริมไปยังเมืองอื่นๆ ที่มีศักยภาพด้วย
นอกจากนี้ ยังขยายความรวมมือด้านภาพยนตร์ระหว่างประเทศไทยและอินเดีย เนื่องจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของอินเดีย หรือ บอลลีวู้ด กลายเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศที่สร้างรายได้อย่างมหาศาล ถึง 6 หมื่นล้านบาท เป็นตลาดใหญ่อันดับของโลก และเป็นกระจกสะท้อนวิถีชีวิต ค่านิยมของสังคมอินเดียตามยุคสมัย ซึ่งในปัจจุบันได้มีความร่วมมือเป็นพันธมิตรกับหลายประเทศอย่างกว้างขวาง โดยทางภาครัฐอินเดียยินดีให้การสนับสนุนประเทศไทยและมีโอกาสที่จะร่วมลงทุนด้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในอนาคต อาทิ การเปิดตลาดภาพยนตร์ไทยในอินเดีย และขยายการถ่ายทำภาพยนตร์อินเดียในประเทศไทยให้มากยิ่งขึ้นด้วย ขณะเดียวกัน การมาเยือนในครั้งนี้ ยังได้มีโอกาสเยี่ยมชมหน่วยงานภาคเอกชนที่ส่งเสริมการผลิตและถ่ายทำภาพยนตร์ของเมืองมุมไบ ทำให้ทราบความเป็นมาของการเริ่มผลิตภาพยนตร์ในยุคแรกๆของอินเดีย ตั้งแต่การเปิดโรงเรียนสอน จนกระทั่งเปิดตลาดสู่โลกภายนอก ซึ่งเป็นประโยชน์กับประเทศไทยที่ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ เพื่อนำไปเป็นแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของไทยให้พัฒนามากยิ่งขึ้น
ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า การมาเยือนมุมไบในครั้งนี้ ทำให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนของไทย ที่ร่วมกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์มองเห็นภาพรวมและความเป็นมืออาชีพในเรื่องการผลิตอย่างลึกซึ้ง ทั้งการทำงานที่เป็นระบบ และให้ความสำคัญกับการเจาะตลาดทั้งในและต่างประเทศ มีการส่งมืออาชีพไปเผยแพร่และสนับสนุนให้ภาพยนตร์ได้รับการยอมรับในเวทีนานาชาติ ขณะเดียวกันก็ได้ดึงต่างประเทศมาถ่ายทำในประเทศอินเดีย ที่สำคัญคือการบ่มเพาะเยาวชน และผู้กำกับหนังที่มีพรสวรรค์ ในด้านพัฒนาการเขียนบทให้ออกมาเป็นภาพยนตร์ที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องเรียนรู้และศึกษาเพื่อนำไปพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของไทย อย่างไรก็ตาม ถือเป็นการเปิดมิติในเชิงทวิภาคีระหว่างไทยกับอินเดียในเรื่องการร่วมลงทุน การร่วมสร้างงาน และร่วมแลกเปลี่ยนบุคลากรด้านภาพยนตร์กันในอนาคตอีกด้วย