กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--มท.
กำหนดจัดงาน จัดขึ้นในระหว่างวันศุกร์ที่ 14 - วันศุกร์ที่ 21 กรกฎาคม 2543 โดยในวันอาทิตย์ที่ 16 จะเป็นวันอาสาฬหบูชา และวันจันทร์ที่ 17 จะเป็นวันเข้าพรรษา
สถานที่จัดงาน กิจกรรมหลักๆ จะจัดขึ้นบริเวณทุ่งศรีเมือง ส่วนกิจกรรมพิเศษอื่นๆ จะจัดขึ้นตามสถานที่ต่างๆ ภายในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี
ข้อแนะนำในการเที่ยวชม เยี่ยมเยือน และศึกษากิจกรรมในงาน
งานประเพณีแห่เทียนพรรษาอุบลราชธานี นอกจากจะเป็นงานที่แสดงออก ถึงการยึดมั่น สืบสานงานบุญทางพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด ของชาวเมืองอุบลฯ แล้ว ก็ยังเป็นงานที่แสดงออก ถึงวิวัฒนาการด้านศิลป ของบรรดาสกุลช่างเมืองอุบลฯ อีกด้วย ทั้งนี้ เนื่องจาก บรรดาช่างศิลป์เมืองอุบลฯ ที่มีอยู่มากมายหลากหลายแขนง และผลิตงานด้านศิลปอย่างต่อเนื่องตลอดมา ไม่ว่าจะเป็น งานศิลปร่วมสมัย งานหัตถกรรมพื้นบ้าน และงานก่อสร้างตกแต่งโบสถ์ วิหารต่างๆ จะใช้โอกาสในช่วงเทศกาลนี้ กลับมาทดสอบ ทดลอง และประลองฝีมือเชิงช่าง โดยผ่านต้นเทียนพรรษา ดังนั้น ผู้ที่มาร่วมงาน ประเพณีแห่เทียนพรรษาอุบลราชธานี จึงสามารถชื่นชม และศึกษากิจกรรมของงาน ทั้งในด้านการสืบสานจารีตประเพณีพื้นเมือง และในด้านศิลปการตกแต่งเทียน กิจกรรมภายในงานที่สำคัญๆ ได้แก่
1. เยือนชุมชน ชมวิถีวัฒนธรรมในการตกแต่งต้นเทียน การไปเยี่ยมเยียนชุมชน หรือคุ้มวัดต่างๆ ในช่วงที่กำลังเตรียมการตกแต่งต้นเทียน คือในช่วงประมาณ 2- 3 วัน ก่อนวันแห่เทียนนั้น นอกจากผู้มาเยือนจะได้ศึกษากรรมวิธี และขั้นตอน การตกแต่งเทียน อันเป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่นแล้ว ยังจะได้สัมผัสกับ บรรยากาศ การร่วมแรง ร่วมใจ ของชุมชน ในการทำกิจกรรมทางพุทธศาสนา ซึ่งถือเป็นวิถีวัฒนธรรมพื้นบ้านที่สำคัญ ของชาวอุบลราชธานี สำหรับในปีนี้ ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเยี่ยมชมชุมชนคือ ประมาณวันที่ 13-15 กรกฎาคม 2543 สำหรับคุ้มวัดที่น่าสนใจ เช่น วัดบูรพา วัดหนองบัว วัดสว่างอารมณ์ วัดศรีประดู่ทรงธรรม วัดสุทัศวนาราม วัดทุ่งศรีเมือง และวัดผาสุการาม เป็นต้น
2. การเวียนเทียน วันอาสาฬหบูชา ที่วัดงามในเมืองอุบลฯ การเวียนเทียน เนื่องในวันอาสาฬหบูชา จะจัดขึ้นในช่วงค่ำของวันอาทิตย์ที่ 16 กรกฎาคม 2543 ตามวัดต่างๆ โดยทั่วไป กิจกรรมนี้ นอกจากจะเป็นกิจกรรมที่สำคัญ ของพระพุทธศาสนานิกชนแล้ว ยังเป็นโอกาสอันดีของผู้เข้าร่วมกิจกรรม ที่จะได้ชื่นชมเอกลักษณ์ ทางสถาปัตยกรรมพื้นเมือง อันงดงาม ตามคุ้มวัดต่างๆ ในอีกมิติหนึ่ง
3. การตั้งแสดงต้นเทียนรอบทุ่งศรีเมือง การแสดงงานศิลปตกแต่งเทียน ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย โดยในช่วงค่ำของวันอาทิตย์ที่ 16 กรกฎาคม 2543 จะเป็นเวลา ที่ต้นเทียนพรรษาจากคุ้มวัดต่างๆ กว่า 30 ต้น จะถูกเคลื่อนย้ายมาตั้งไว้ ณ บริเวณถนนรอบๆ ทุ่งศรีเมือง เพื่อเตรียมการเข้าร่วมขบวนแห่ ในเช้าวันรุ่งขึ้น ในช่วงนี้ เป็นช่วงที่ต้นเทียน จะได้รับการตกแต่งอย่างสมบูรณ์ ประกอบกับ สถานที่ตั้ง จะได้รับการจัดเตรียมไว้เป็นอย่างดี เช่น การเตรียมแสงไฟฟ้าไว้สาดส่องต้นเทียน ตลอดจน การประดับประดาบริเวณงานอย่างเป็นระเบียบ ดังนั้น ในช่วงเวลาดังกล่าว จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด ในการชื่นชมศิลปการตกแต่งต้นเทียน อย่างละเอียดละออ โดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องเวลา และอาจกล่าวได้ว่า กิจกรรมในช่วงนี้ เป็นการแสดงศิลปตกแต่งเทียน ที่งดงาม และสมบูรณ์ที่สุด ของประเทศไทย
4. กิจกรรมขบวนแห่เทียนพรรษา จะจัดขึ้นในวันจันทร์ที่ 17 กรกฎาคม 2543 ตั้งแต่เวลาประมาณ 08.00 น. เป็นต้นไป โดยจะเคลื่อนขบวนไปตามถนน ที่ผ่านหน้าศาลากลางจังหวัด คือถนนอุปราช และถนนชยางกูร เป็นระยะทางประมาณ 2-3 กม. จึงสลายขบวน รูปแบบของการจัดขบวนประกอบด้วย ขบวนเทียนหลวงพระราชทาน ขบวนต้นเทียนของคุ้มวัดต่างๆ ซึ่งแต่ละขบวน จะประกอบขบวนด้วยการแสดง การละเล่น การฟ้อนรำ การบรรเลงดนตรี ในรูปแบบของศิลปวัฒนธรรมพื้นเมือง การเข้าชมขบวนแห่ คณะกรรมการจัดงาน จะเตรียมอัฒจันทร์นั่งชม ไว้บริการบริเวณ หน้าศาลากลางจังหวัด โดยผู้ชมต้องเสียค่าบริการเพียงเล็กน้อย ประมาณท่านละ 150-200 บาท สำหรับการเข้าชมขบวนตามจุดอื่นๆนั้น สามารถเข้าชมได้ตามอัธยาศัย โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ขบวนดังกล่าวโดยปกติจะเสร็จสิ้นในช่วงบ่าย
5. กิจกรรมการทำบุญถวายเทียนพรรษา เป็นกิจกรรม ที่ถือได้ว่าเป็นหัวใจของประเพณีบุญเข้าพรรษา โดยพุทธศาสนิกชน จะนำเทียนพรรษา ผ้าอาบน้ำฝน และเครื่องใช้ที่จำเป็นอื่นๆ ไปถวายพระสงค์ตามวัดใกล้บ้าน เพื่อสืบสานงานบุญ และเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง กิจกรรมนี้ ผู้มาเยือนสามารถศึกษา ชื่นชม และร่วมกิจกรรมได้ตามวัดทั่วๆ ไป สำหรับเทียนหลวงพระราชทานนั้น ในปีนี้ กำหนดจะทอดถวาย ณ วัดมหาวนาราม (วัดป่าใหญ่) ในช่วงบ่ายของวันจันทร์ที่ 17 กรกฎาคม 2543
6. กิจกรรมการสาธิตศิลปวัฒนธรรมพื้นเมืองที่หมู่บ้านศรีวนาลัย จะมีการจัดสร้างกลุ่มหมู่บ้าน ที่มีรูปแบบ และบรรยากาศคล้ายหมู่บ้านของชาวเมืองอุบลฯในอดีต ที่บริเวณทุ่งศรีเมือง โดยตั้งชื่อว่า "หมู่บ้านศรีวนาลัย" ภายในหมู่บ้าน จะมีการจัดแสดงสาธิตวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปหัตถกรรม ศิลปการแสดง ตลอดจนกิจกรรมที่เกี่ยวกับบัว และเทียน ซึ่งกิจกรรมทั้งหลายในหมู่บ้านนี้ ล้วนแต่เป็นเอกลักษณ์จากพื้นเมือง กิจกรรมดังกล่าว จะจัดขึ้นระหว่าง เวลา 11.00-20.00 น. ของทุกๆ วัน และสามารถเข้าเยี่ยมชมโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
7. กิจกรรมอื่นๆ นอกจากกิจกรรมดังกล่าวข้างต้นแล้ว คณะกรรมการจัดงาน ยังได้จัดกิจกรรมพิเศษต่างๆ อีกมากมาย เช่น การจัดงานพาแลง และการประกวดธิดาเทียนพรรษา ณโรงแรมลายทอง ภายในตัวเมือง การจัดแสดงประกอบเสียง แสง แสดงประวัติความเป็นมาของเมืองอุบลฯ การจัดสาธิตการแสดงขบวนแห่เทียนพรรษาภาคกลางคืน เป็นต้น--จบ--
-อน-