กรุงเทพฯ--10 มี.ค.--สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์
ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส ,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ (ระดับอุดมศึกษา) แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อพฤติกรรมการดูแลเอาใจใส่เลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงประเภทสุนัขและแมวซึ่งได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ถึง 4 มีนาคม พ.ศ. 2559 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,165 คน
ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวว่า ในปัจจุบันได้ปรากฏข่าวเป็นระยะถึงการไม่ดูแลเอาใจใส่อย่างเหมาะสมต่อสุนัขหรือแมวของผู้เลี้ยงซึ่งมีหลายกรณีกลายเป็นการสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับผู้อื่น เช่น การปล่อยให้สุนัขหรือแมวขับถ่ายไม่เป็นที่ การปล่อยให้สุนัขหรือแมวไปทำร้ายผู้อื่น หรือแม้แต่การนำสุนัขหรือแมวไปปล่อยทิ้งในสถานที่สาธารณะต่างๆ ขณะเดียวกันยังมีข่าวปรากฎอยู่บ่อยครั้งถึงการทำร้ายทารุณสุนัขหรือแมวของคนบางจำพวก ซึ่งข่าวทั้งหลายเหล่านี้ได้ถูกผู้คนในสังคมทั้งนักวิชาการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมถึงผู้เลี้ยงสุนัขและแมวหยิบยกมาวิพากษ์วิจารณ์และร่วมเสนอทางออกในการแก้ไขปัญหา แต่ปัญหาเกี่ยวกับสุนัขและแมวก็ยังคงปรากฏเป็นข่าวอยู่อย่างต่อเนื่อง
จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อพฤติกรรมการดูแลเอาใจใส่เลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงประเภทสุนัขและแมว
ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวต่อว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.73 ร้อยละ 49.27 เป็นเพศชาย และส่วนใหญ่มีอายุ 25 ถึง 34 ปีสามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านข้อมูลเกี่ยวกับสุนัขหรือแมวในบริเวณรอบๆที่พักอาศัย กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 71.07 ระบุว่าภายในระยะ 200 เมตรโดยรอบบริเวณที่พักอาศัยของตนเอง มีผู้เลี้ยงสุนัข/แมว ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 28.93 ระบุว่าไม่มี ส่วนกลุ่มตัวอย่างเกือบสี่ในห้าหรือคิดเป็นร้อยละ 79.31 ระบุว่าภายในระยะ 200 เมตรโดยรอบบริเวณที่พักอาศัยของตนเอง มีสุนัข/แมวจรจัด/ไม่มีเจ้าของอยู่ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 20.69 ระบุว่าไม่มี
ในด้านความรู้สึกเกี่ยวกับสุนัขหรือแมวที่มีเจ้าของ/สุนัขหรือแมวจรจัดนั้น กลุ่มตัวอย่างเกือบครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 48.93 ระบุว่าตนเองรู้สึกรำคาญเสียง/กลิ่นของสุนัขหรือแมวที่ผู้อื่นเลี้ยง/สุนัขหรือแมวจรจัดหบ้าง ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 41.89 ยอมรับว่าตนเองรู้สึกรำคาญมาก ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 9.18 ระบุว่าตนเองไม่รู้สึกรำคาญเลย ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 43.35 ระบุว่าตนเองเคยประสบปัญหาสุนัข/แมวของผู้อื่นหรือสุนัข/แมวจรจัดมาขับถ่ายบริเวณหน้าหรือภายในพื้นที่ที่พักอาศัยของตนเป็นประจำ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 34.16 ระบุว่าตนเองเคยประสบปัญหาบ้าง โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างไม่ถึงหนึ่งในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 22.49 ระบุว่าตนเองไม่เคยประสบปัญหาเลย
ในด้านความคิดเห็นต่อการเลี้ยงสุนัขหรือแมว กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 68.24 ระบุว่าตนเองเห็นด้วยที่มีการห้ามเลี้ยงสุนัขหรือแมวภายในที่พักอาศัยประเภทอาคารชุด เช่น คอนโดมิเนียม อาพาร์ตเมนต์ หอพัก เป็นต้น ขณะที่กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 76.48 เห็นด้วยที่จะมีการกำหนดบทลงโทษให้จำคุกเจ้าของสุนัขหรือแมวที่ปล่อยปะละเลยให้สุนัขหรือแมวของตนไปสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับผู้อื่น เช่น ถ่ายของเสียหน้าที่พักอาศัยผู้อื่น กัดผู้อื่นโดยมิได้ถูกแกล้งหรือทำให้โกรธ ทำลายทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย เป็นต้น นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างถึงสี่ในห้าหรือคิดเป็นร้อยละ 80.09 เห็นด้วยที่มีการกำหนดบทลงโทษจำคุกกับผู้ที่ทำร้าย/กระทำความรุนแรงกับสุนัขหรือแมวจนบาดเจ็บหรือถึงแก่ความตาย อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 47.55 ไม่เห็นด้วยที่มีบุคคลภายนอกพื้นที่ชุมชนเข้ามาให้อาหารสุนัขหรือแมวจรจัดเป็นประจำ
ขณะเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบมาตรการการลงโทษระหว่างเจ้าของสุนัขหรือแมวที่ปล่อยให้สุนัขหรือแมวของตนไปสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับผู้อื่นกับผู้ที่ทำร้ายสุนัขหรือแมวที่มาสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับตนนั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 48.93 มีความคิดเห็นว่าควรลงโทษบุคคลทั้งสองเท่าๆกัน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 28.67 มีความคิดเห็นว่าควรลงโทษเจ้าของสุนัขหรือแมวให้หนักกว่า ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 22.4 มีความคิดเห็นว่าควรลงโทษผู้ที่ทำร้ายสุนัขหรือแมวให้หนักกว่า
นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 69.36 มีความคิดเห็นว่าควรกำหนดบทลงโทษกับเจ้าของสุนัขหรือแมวที่นำสุนัขหรือแมวของตนไปปล่อยทิ้งในสถานที่สาธารณะ เช่น วัด โรงเรียน สวนสาธารณะ บาทวิถี เป็นต้น และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 67.38 มีความคิดเห็นว่าภาครัฐควรจัดสถานที่เป็นการเฉพาะสำหรับนำสุนัขหรือแมวจรจัดมาอยู่รวมกันเพื่อดูแล ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าว