กรุงเทพฯ--10 มี.ค.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
สพฉ. จัดเวทีประชาพิจารณ์ร่างแผนหลักการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติฉบับที่ 3 เตรียมยกระดับมาตรฐานและคุณภาพระบบการแพทย์ฉุกเฉินไทย พร้อมเน้นความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เปิดสถิติตลอดปี พ.ศ. 2556-2558 ช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินเพิ่มมากขึ้นถึง 138,683 ครั้ง เชื่อหลังประกาศใช้แผนหลักฉบับที่ 3 จะลดอัตราการเสียชีวิตของประชาชนจาก อุบัติเหตุจราจร โรคหลอดเลือดสมอง และโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ที่โรงแรมเอเชียแอร์พอร์ท จังหวัดปทุมธานี วันนี้ (4 มี.ค. ) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะร่างแผนหลักการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติฉบับที่ 3 พ.ศ. 2560 -2564 โดยมีตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนมาก
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกล่าวว่า สืบเนื่องจากแผนหลักการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ฉบับที่ 2 ซึ่งครอบคลุมการดำเนินงานขับเคลื่อนระบบการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทยในช่วง 4 ปี ที่ผ่านมา กำลังจะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน พ.ศ. 2559 นี้ สพฉ.จึงได้จัดทำร่างแผนหลักการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2560 -2564 ขึ้นมาเพื่อให้คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินและภาคีทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชนทั่วประเทศ ได้ให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์เพื่อนำไปสู่การกำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้ชัดเจนเป็นที่ยอมรับและสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไปได้ ทั้งนี้ที่ผ่านมาผลการดำเนินงานของแผนหลักการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ฉบับที่ 2 ได้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่ากลไกการขับเคลื่อนของระบบการแพทย์ฉุกเฉินสามารถทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการการแพทย์ฉุกเฉินได้เพิ่มมากขึ้นดังจะเห็นได้จากจำนวนผู้ป่วยฉุกเฉินที่มาเข้าสู่กระบวนการรักษาด้วยระบบการแพทย์ฉุกเฉินเพิ่มขึ้นทุกปีโดยปี พ.ศ. 2556 จำนวน 1,227,336 ราย ปี พ.ศ. 2557 จำนวน 1,279,913 ราย และปี พ.ศ. 2558 จำนวน 1,366,019 ราย ซึ่งเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบการปฏิบัติการฉุกเฉินช่วยเหลือผู้ป่วยระหว่างปี พ.ศ. 2556 กับปี 2558 พบว่าการปฏิบัติการฉุกเฉินช่วยเหลือผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 138,683 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 11.30 นอกจากนี้ยังพบว่าความครอบคลุมของบริการและการแจ้งเหตุเพื่อการขอรับความช่วยเหลือและคำปรึกษาของประชาชนผ่านหมายเลขฉุกเฉิน 1669 เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน
เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกล่าวว่า ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาในช่วงแผนหลักการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ฉบับที่ 3 นั้นจึงมีทิศทาง มุ่งให้ความสำคัญกับการยกระดับมาตรฐานและคุณภาพระบบการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศเพื่อให้มีมาตรฐานและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับระบบการแพทย์ฉุกเฉินครบถ้วน มีบุคลากรในระบบที่ได้มาตรฐานและคุณภาพเพียงพอ มีแหล่งงบประมาณสนับสนุนการจัดระบบที่เหมาะสมและยั่งยืน มีระเบียบ ข้อบังคับและกฎหมายที่จำเป็นในการพัฒนาระบบ มีการนำสารสนเทศมาใช้ในการบริหารจัดการบริการและการติดตามประเมินผล อีกทั้งยังมีระบบการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศที่มีประสิทธิภาพ และมีการสื่อสารและสร้างองค์ความรู้เพื่อให้ประชาชนมีความรู้และเข้าถึงบริการการแพทย์ฉุกเฉินทั้งในภาวะปกติและสาธารณภัยได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยภาคีภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการผลักดันและมีการประสานความร่วมมือเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมโดยคำนึงถึงกลไกการเชื่อมโยงระบบสุขภาพของประเทศกับระบบการพัฒนาประเทศในมิติด้านอื่น ๆ ควบคู่กันไปในทิศทางเดียวกันโดยมีเป้าหมายหลักที่สำคัญ คือ ลดการเสียชีวิตและความพิการจากภาวะฉุกเฉินที่เกิดจากโรคและภัย
"สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้ร่างแผนหลักการแพทย์ฉุกเฉินฉบับที่ 3 เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการคุ้มครองสิทธิ์ในการเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินอย่างทั่วถึง เท่าเทียม ซึ่งคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการแพทย์ฉุกเฉิน และ สพฉ. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบการบริหารจัดการ การประสานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทในการบริหารจัดการ ให้เกิดความร่วมมือในการปฏิบัติงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินร่วมกันอย่างยั่งยืนอีกด้วย เรามีความมุ่งหวังร่วมกันว่าภายหลังการประกาศใช้แผนหลักฯฉบับที่ 3 แล้วจะทำให้อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินในช่วงก่อนถึงโรงพยาบาลลดน้อยลง และลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินที่รับไว้ในโรงพยาบาล ลดอัตราการเสียชีวิตของประชาชนจากอุบัติเหตุจราจร ลดอัตราการเสียชีวิตของประชาชนจากโรคหลอดเลือดสมอง และลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย" นพ.อนุชากล่าว