กรุงเทพฯ--11 มี.ค.--มูลนิธิสื่อสร้างสุข
ความท้าทายความเป็นชุมชนเมือง คือการต้องเผชิญกับสภาพของผู้คนที่ต่างคนต่างอยู่ เช่นเดียวกับเมืองวังสะพุง เมืองที่ตั้งอยู่เลียบฝั่งแม่น้ำเลย มีต้นสมพงหรือสะพุงเป็นสัญลักษณ์และกลายเป็นที่มาของชื่อ แม้จะเป็นเมืองเล็กๆ แต่ถ้าได้ขึ้นชื่อว่าเมืองแล้ว ก็ย่อมหนีไม่พ้นความหลากหลายทั้งเรื่องผู้คนและอาชีพ ตื่นเช้ามาต่างก็ตั้งหน้าออกทำมาหากิน ไม่มีเวลาในการทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนบ้าน มิหนำซ้ำแม้จะเป็นเรื่องในบ้านตัวเองยังไม่มีเวลาพอในการดูแล โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมในเขตชุมชน
ชุมชนเมือง กับการสร้างการมีส่วนร่วม โจทย์ใหญ่ของการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน
ดังที่นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล นายกเทศมนตรีเมืองวังสะพุง เล่าให้ฟังว่า ที่อำเภอวังสะพุงไม่มีที่ทิ้งขยะเป็นของตัวเอง ต้องนำไปทิ้งที่เทศบาลเมืองเลย ซึ่งอยู่ห่างจากที่นี่ไปกลับถึง 80 กิโลเมตร ทำให้ใช้งบประมาณในเรื่องการจัดการขยะค่อนข้างสูงและภารกิจการจัดการขยะทั้งหมดเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทางเทศบาลฯ การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน ต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด จึงคิดโครงการหน้าบ้านน่ามองขึ้นมาเพื่อจัดการสิ่งแวดล้อมในชุมชนให้สวยงาม และเป็นเมืองน่าอยู่ ผ่านการสร้างวินัยคนเมือง
ด้วยสภาพปัญหาเช่นนี้ ทำให้เมืองวังสะพุงต้องปรับมุมมองในการพัฒนา เกิดเป็นวิสัยทัศน์เพื่อใส่ใจสิ่งแวดล้อม ปี 2552 "บ้านเมืองน่าอยู่ สิ่งแวดล้อมดีเยี่ยม เปี่ยมธรรมมาภิบาล" นับตั้งแต่นั้นเมืองวังสะพุงก็มีการพัฒนาชุมชนด้านสิ่งแวดล้อมในหลากหลายรูปแบบผ่านโครงการต่างๆ และในปี 2556 มี 4 ชุมชน จากทั้งหมด 20 ชุมชน ของเทศบาลเมืองวังสะพุง ได้เข้าร่วมโครงการร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นให้น่าอยู่ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อต่อยอดและหนุนเสริมศักยภาพของชุมชนให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น จากเดิมที่ท้องถิ่นอย่างเทศบาลเมืองวังสะพุงได้ดำเนินงานอยู่ก่อนแล้ว สสส.ได้มาหนุนรูปแบบสภาผู้นำชุมชน ที่ทำให้คนในชุมชนทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน มีการทำงานที่เป็นขั้นตอน เริ่มจากการร้อยเรียงปัญหาจนถึงหาแนวทางการแก้ไข
หน้าบ้านน่ามอง สร้างวินัยคน จนเป็นกิจวัตรประจำวัน
ที่ชุมชนวังสะพุง 1 ชุมชนเมืองขนาดเล็ก 85 ครัวเรือน ทำโครงการหน้าบ้านน่ามอง เพื่อแก้ไขปัญหาขยะหมักหมม ขยะล้นถัง การปล่อยน้ำเสียลงพื้นที่สาธารณะ และการจัดการสิ่งแวดล้อมในชุมชนให้สะอาดน่าอยู่ ทั้งหน้าบ้าน ในบ้าน และสถานที่สาธารณะในชุมชน การจัดวางองค์ประกอบภายในบ้านและการตกแต่งหน้าบ้านให้สวยงามคือสิ่งที่ทุกคนเมืองเห็นเมื่อมาเยือนชุมชนแห่งนี้ แต่เบื้องหลังความสวยงามเหล่านั้น มันคือการที่ทุกคนร่วมแรงร่วมใจออกมาทำความสะอาดหน้าบ้าน กวาดถนน สถานที่สาธารณะในชุมชนช่วยกันทุกวัน จนกลายเป็นกิจวัตรประจำวันของชาวบ้านที่นี่ เห็นได้อย่างชัดเจนว่าแม้จะเป็นชุมชนเมือง ก็สามารถสร้างการมีส่วนร่วมได้เป็นอย่างดี นางดรุณี มาลี ประธานชุมชนวังสะพุง 1 เล่าให้ฟังด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม
รั้วผักหน้าบ้าน ลานแบ่งปัน รอยยิ้ม และความสุข คนวังสะพุง 2
ด้านนางสาววีรพรรณ ลาวัลย์ ประธานชุมชนวังสะพุง 2 กล่าวว่า 30 % ของคนในชุมชนนี้มีอาชีพ คือการปลูกผักริมแม่น้ำเลยขาย มีปัญหาเรื่องสารเคมีทางการเกษตรรายจ่ายในครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นเพราะต้องซื้อปุ๋ยเคมีและยากำจัดศัตรูพืชส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันคนในชุมชนบางส่วนที่ไม่ได้ปลูกผักก็ซื้อจากตลาดสดในชุมชนบริโภค เนื่องจากชอบความสะดวกสบาย มีทุกอย่างพร้อมตอบสนองความต้องการได้อย่างรวดเร็ว ผู้นำชุมชนจึงคิดแก้ไขปัญหาโดยใช้พื้นที่หน้าบ้านปลูกผักทานเอง ส่วนที่เหลือนำมาแบ่งปันกันในชุมชน ภายใต้โครงการการปลูกผักสวนครัว รั้วกินได้ ไร้สารพิษ ปลูกผักสวนครัวจำนวนกว่า 20 ชนิดที่หน้าบ้าน และสถานที่สาธารณะข้างเคียง ส่งผลให้พื้นที่หน้าบ้านเป็นลานกิจกรรมที่ดึงคนออกจากบ้าน มาช่วยกันปลูกผัก รดน้ำผักในทุกเช้าเย็น เกิดการพูดคุยนำมาซึ่งความรัก ความสามัคคี และการแบ่งปันผักกัน ที่สำคัญทำให้คนในชุมชนมีสุขภาพดีมากขึ้น
กำจัดขยะครัวเรือน สร้างรายได้ ด้วยปุ๋ยไส้เดือนดิน
ด้านชุมชนจอมมณี 1 ชุมชนขนาดกลาง 126 ครัวเรือน บ้านเรือนอยู่ใกล้ชิดกันค่อนข้างหนาแน่น มีปัญหาการจัดการขยะไม่ถูกต้อง เช่น ทิ้งขยะไม่เป็นที่ โดยทิ้งตามไหล่ทาง มุมถนนจนเกิดความสกปรก ทั้งที่ปริมาณขยะต่อวันเฉลี่ยเพียง 600 กิโลกรัมและส่วนใหญ่ร้อยละ 40 เป็นขยะย่อยสลายจากเศษอาหารในครัวเรือน นายชาญยุทธ์ ปทุมานนท์ คณะกรรมการชุมชน ได้นำขยะจากครัวเรือนซึ่งวัตถุชั้นดีมาเลี้ยงไส้เดือนดินสายพันธุ์ฮอลแลนด์ และสายพันธุ์แม่โจ้ เพื่อย่อยสลายขยะให้เป็นน้ำหมักมูลไส้เดือนดินก่อนนำมารดพืชผักในชุมชน มิหนำซ้ำน้ำหมักมูลไส้เดือนเหล่านี้ยังถูกแปลงเป็นผลิตภัณฑ์บรรจุลงในขวดเพื่อขายเกิดเป็นรายได้ให้กับชุมชน โดยปุ๋ยน้ำปัสสาวะไส้เดือนดินจำหน่ายขวดละ 10 บาท พันธุ์ไส้เดือนดิน จำหน่ายราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 600 บาท เป็นต้น ปัจจุบันในชุมชนจอมมณี 1 มีการเลี้ยงไส้เดือนดินกว่า 10 บ่อ
ธนาคารขยะ โมเดลการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ
ด้านชุมชนจอมมณี 2 ชุมชนขนาดกลางที่มีปัญหาไม่แตกต่างจากชุมชนอื่น โดยเฉพาะเรื่องการจัดการขยะ นางนารีรัตน์ สีหาราช คณะกรรมการสภาชุมชน กล่าวว่าการแก้ไขปัญหามุ่งเน้นไปที่การให้ความรู้เพื่อคัดแยกขยะ การส่งเสริมการแปรรูปขยะ เช่น ถุงผ้าจากขยะรีไซเคิล ที่สมาชิกในชุมชนกว่า 50 ครัวเรือน ถือไปจ่ายตลาดเป็นประจำ การจัดการขยะผ่านการตั้งธนาคารขยะในชุมชน เปิดรับซื้อขยะเดือนละ 1ครั้ง ทำให้มีปริมาณขยะเหลือให้รถเทศบาลเก็บเพียง 140 กิโลกรัมต่อวัน จากเดิมสูงถึง 500 กิโลกรัม เป็นต้น ความโดดเด่นของธนาคารขยะชุมชนจอมมณี 2 ได้กลายเป็นโมเดลสำคัญให้ชุมชนอื่นๆในเทศบาลเมืองวังสะพุงได้เรียนรู้ และในอนาคตอันใกล้ จะได้เห็นเมืองวังสะพุงมีระบบธนาคารขยะทั่วทั้งเมือง
2 พลังหนุน ท้องถิ่น + สภาผู้นำ คุยกันทุกวัน แบ่งปันทุกข์สุข
นายเดชา จำปาภา ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองวังสะพุง กล่าวว่าการทำงานของทางเทศบาลเมืองวังสะพุงเน้นที่การให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานให้มากที่สุด ขณะเดียวกันก็ได้รับทุนสนับสนุนจากสสส.ซึ่งมีกระบวนการหนุนเสริมเรื่องการสร้างสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เมื่อมาทำงานควบคู่กันกันอย่างต่อเนื่อง ประชุมร่วมกันเดือนละอย่างน้อย 1 ครั้ง ทำให้เกิดความเข้าใจกัน คนในชุมชนก็ให้ความร่วมมือในการทำงาน
ตอบโจทย์ใหญ่ ชุมชนเมืองก็สร้างการมีส่วนร่วมได้
การประชุมหารือผ่านสภาผู้นำชุมชนอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง อย่างต่อเนื่อง โดยการนำของสมาชิกสภาผู้นำชุมชน ที่แต่ละชุมชนมีสมาชิกจำนวน 20 คนขึ้นไป เป็นหัวใจหลักของการทำงานที่นี่ เพื่อให้งานมีความคืบหน้าเติมเต็มส่วนที่ยังไม่สมบูรณ์และให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และ2พลังบวกในการทำงานระหว่างสภาผู้นำชุมชนและเทศบาลเมืองวังสะพุงที่คอยเป็นพี่เลี้ยงประกบ ทั้งการสนับสนุนงบประมาณ ความรู้ ลงพื้นที่ประชุมร่วมกันกับชาวบ้านทุกเดือน ทำให้ทั้ง 4 ชุมชน มีการพัฒนารูปแบบการทำงานอย่างต่อเนื่อง นอกจากการเปลี่ยนวินัยคนเมือง ให้รักความสะอาด จัดการสิ่งแวดล้อมอย่างถูกวิธี คนในชุมชนมีความรักความสามัคคี อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขท่ามกลางชุมชนที่สะอาดและสวยงามแล้ว ยังเกิดเป็นการบูรณาการฐานการเรียนรู้ 4 ฐาน ที่คอยต้อนรับแขกต่างหน้าที่มาเยือนเพื่อมาศึกษาดูงานเดือนละกว่า 20 คณะ