กรุงเทพฯ--8 ต.ค.--สธ.
โรคข้อ เป็นภัยเงียบที่คุกคามและเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทย การรักษาด้วยยาชุด มีโอกาสเป็นโรคข้อได้สูง และอาจพิการหากรักษาไม่ถูกวิธี
นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า โรคกระดูกและข้อเป็นภัยเงียบที่เกิดขึ้นกับประชาชน จากสถิติงานวิจัย พบคนไทย 1 ใน 3 คน ได้รับความทุกข์ทรมานจากโรคปวดข้อปวดเมื่อย คาดว่า มีประชากรไทยเป็นโรคนี้ถึง 20 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นหญิงมากกว่าชายถึง 2 เท่า อาการปวดที่พบมากคือบริเวณหลัง เข่า สะโพก และต้นคอ สาเหตุเกิดจากการวางท่าทางและอิริยาบถไม่ถูกต้อง การออกกำลังกายไม่ถูกต้อง บางทีเกิดจากรักษาไม่ถูกต้อง เช่น โรค รูมาตอยด์ อาจทำให้นิ้วบวมหลุดขาดได้ บางรายเกิดความพิการไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ดังนั้น เมื่อเกิดปัญหาเกี่ยวกับการปวดข้อควรเลือกรับการรักษาที่ปลอดภัย ไม่ควรรักษาด้วยยาชุด
ทางด้านนายแพทย์พงษ์ศักดิ์ วัฒนา ประธานมูลนิธิโรคข้อในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า ประเทศไทยยังมีความจำเป็นในการพัฒนาสาธารณสุข พื้นฐานอีกหลายด้าน ความรู้เรื่องโรคข้อและกระดูกเป็นอีกด้านหนึ่งที่ต้องพัฒนา มูลนิธิโรคข้อได้จัดงานวันโรคข้อสากลเพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าในเรื่องโรคข้อและกระดูกที่ถูกต้องให้แก่ประชาชน โดยให้ความรู้ในการป้องกันและการรักษาโรค ตลอดจนวิธีการใช้ยาที่ถูกต้อง นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้วันที่ 12 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันโรคข้อสากลและรณรงค์ให้ปี ค.ศ.2000-2010 เป็นทศวรรษแห่งโรคข้ออีกด้วย--จบ--
-สส-