กรุงเทพฯ--14 มี.ค.--กรมทรัพยากรน้ำบาดาล
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล แถลงข่าวยืนยัน ไม่มีทุจริตตามข้อสังเกตของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพราะหากตรวจพบจะดำเนินการ ทางวินัยร้ายแรงตามระเบียบทันที ขณะนี้เร่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว พร้อมเพิ่มมาตรการเข้มข้นมากขึ้น เพื่อป้องกันและสกัดกั้นมิให้เกิดการทุจริตประพฤติมิชอบอย่างเด็ดขาด
จากการที่ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีหนังสือแจ้งว่า ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลมีพฤติการณ์ที่อาจจะทำให้ทางราชการเสียหาย มีการปฏิบัติไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับของทางราชการ มีการกระทำต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี มีการยักยอกเรียกเก็บหัวคิวร้อยละ 10-30 ของงบประมาณในการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล ดังที่ปรากฏเป็นข่าวตามสื่อต่างๆ และขณะนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว นั้น
นายสุพจน์ เจิมสวัสดิ์พงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยว่า การทำงานของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลไม่มีเรื่องของการทุจริตแน่นอน เพราะถ้าหากตรวจพบกรมทรัพยากรน้ำบาดาล จะดำเนินการทางวินัยร้ายแรงตามระเบียบทันที ทั้งนี้ เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เดินทางไป สตง. เพื่อขอทราบข้อมูลและรายละเอียดว่า กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะช่วยเหลือในเรื่องการตรวจสอบของ สตง. ในส่วนใดได้บ้าง ก็ได้รับทราบจาก สตง. ว่า ยังไม่ได้ระบุไปที่ตัวบุคคลหรือโครงการใดว่าเกิดการทุจริต เพียงแต่แจ้งว่า มีเรื่องร้องเรียนที่สะสมมาหลายรัฐบาลแล้ว โดยเป็นภาพรวมการร้องเรียนของประชาชนในเรื่องการขุดเจาะ บ่อน้ำบาดาลและบ่อน้ำทั่วไป ซึ่งบางส่วนดำเนินการโดยท้องถิ่น แต่เข้าใจว่าเป็นบ่อในความรับผิดชอบของ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และในปีงบประมาณ 2559 นี้ สตง. เห็นว่า รัฐบาลอนุมัติงบประมาณในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งมาเป็นจำนวนมาก จึงเป็นห่วงว่าอาจจะเกิดการทุจริตขึ้นได้ โดยขอให้มีการตรวจสอบการใช้งบประมาณอย่างรัดกุม ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำบาดาลยินดีให้มีการตรวจสอบ และยืนยันว่า การดำเนินการทั้งหมดเป็นไปอย่างโปร่งใส
ส่วนกรณีที่มีการกล่าวอ้างว่า มีการยักยอกเรียกเก็บหัวคิวร้อยละ 10-30 ของงบประมาณในการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลนั้น ขอเรียนว่า ที่ผ่านมากรมทรัพยากรน้ำบาดาลเป็นผู้ดำเนินการขุดเจาะบ่อ น้ำบาดาลเอง ไม่มีการจ้างเหมาเอกชนแต่อย่างใด จึงไม่มีการเก็บหัวคิวใดๆ ทั้งสิ้น แม้ว่าปีงบประมาณ 2559 นี้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะมีการจ้างเอกชนดำเนินการเจาะบ่อน้ำบาดาลในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา จำนวน 735 บ่อ ราคาประมาณบ่อละ 216,000 บาท ซึ่งเป็นราคากลางตามความลึกเฉลี่ย 85 เมตร ขณะนี้อยู่ระหว่างการลงนามในสัญญาจ้างกับเอกชน จำนวน 20 ราย โดยขอยืนยันเช่นกันว่า ไม่มีเรื่องการเรียกเก็บหัวคิวอย่างแน่นอน
อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลกล่าวต่อไปว่า ข่าวดังกล่าวเมื่อปรากฏออกไปสู่สาธารณชนก็เป็นเรื่องที่ทำให้ภาพลักษณ์ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเสียหายเป็นอย่างมาก เนื่องจากขณะนี้อยู่ในช่วงการออกไปปฏิบัติงานเจาะบ่อน้ำบาดาลเพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ ดังนั้น เพื่อมิให้ผู้ปฏิบัติงานเสียกำลังใจ จึงมอบหมายให้ผู้บริหารและผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ใต้บังคับบัญชา พร้อมขอความร่วมมือให้ทุกคนยึดมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต โปร่งใส ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับของทางราชการ รวมถึงมาตรการ แนวทางการควบคุมและป้องกันที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลกำหนดขึ้นอย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นการเพิ่มความรัดกุม ไม่ให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของหน่วยงาน ดังนี้
1. การสร้างจิตสำนึกและพัฒนาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงาน โดยทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขการทุจริตประพฤติมิชอบในส่วนราชการ ส่งเสริมหรือปลูกฝังค่านิยมและปรับทัศนคติในการทำงานให้เป็นคนดีที่มีความซื่อสัตย์ สร้างความตระหนักถึงบทลงโทษกรณีที่กระทำความผิดตามกฎหมาย
2. การควบคุมการเงิน การพัสดุ โดยควบคุมวัสดุ ครุภัณฑ์ และยานพาหนะ การจัดซื้อจัดจ้างวัสดุในภาคสนามกรณีจำเป็นเร่งด่วน รวมถึงการกำกับ ควบคุม และตรวจสอบ
3. ความโปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาล และหลักคุณธรรมจริยธรรมในการปฏิบัติงาน โดยพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการด้วยความเป็นธรรม และสร้างความโปร่งใสให้ได้รับรู้เกี่ยวกับการพิจารณาแต่งตั้งหรือเลื่อนตำแหน่ง รวมถึงการให้ความรู้และแนวทางปฏิบัติแก่เจ้าหน้าที่เพื่อป้องกันไม่เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน หรือความขัดแย้งกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวม
4. มาตรฐานการดำเนินงาน และการบริหาร กำกับ ควบคุม ติดตามโครงการ โดยมีการกำหนดมาตรการก่อนการดำเนินงานโครงการ ระหว่างการดำเนินงานโครงการ และภายหลังจากการดำเนินงานโครงการเสร็จสิ้นแล้ว
สำหรับการดำเนินงานของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ได้แก่ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค จำนวน 1,836 บ่อ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อสนับสนุนน้ำดื่มสะอาดให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ จำนวน 688 บ่อ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง จำนวน 1,311 บ่อ และโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้งระยะเร่งด่วนบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา จำนวน 2,195 บ่อ เป้าหมายรวมกว่า 6,000 บ่อ ขณะนี้ดำเนินการเสร็จแล้ว จำนวน 2,200 บ่อ และคาดว่าภายในสิ้นเดือนเมษายน 2559 จะเจาะบ่อน้ำบาดาลได้เพิ่มขึ้นอีก 2,000 บ่อ รวมเป็น 4,000 บ่อ ส่วนที่เหลืออีก 2,000 บ่อ จะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2559 สามารถให้บริการประชาชนได้กว่า 338,600 ครัวเรือน มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 197,400 ไร่ ปริมาณน้ำที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ 200 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งประชาชนในพื้นที่หรือหมู่บ้านที่ได้รับการแก้ไขปัญหาภัยแล้งกว่า 6,000 แห่งนี้ ก็จะไม่ประสบปัญหา ภัยแล้งหรือขาดแคลนน้ำอีกต่อไป