กรุงเทพฯ--14 มี.ค.--อินทิเกรเต็ด คอมมูนิเคชั่น
ผศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยในงานสัมมนา "UPCYCLE Carbon Footprint : Green marketing strategy กรุยทางสู่ตลาดอีโค่ด้วยอัพไซเคิลคาร์บอนฟุตพริ้นท์" ซึ่งจัดขึ้นภายในงาน Thailand International Furniture Fair 2016 (TIFF 2016) ว่า อัพไซเคิลเป็นกระบวนการที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งของที่ไม่มีคุณภาพ ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงและมีมูลค่าเพิ่มขึ้น โดยผลิตมาจากเศษวัสดุเหลือใช้ที่ต้องมีเป็นจำนวนมาก เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและสามารถผลิตออกสู่ตลาดได้จริง ซึ่งผู้ประกอบการสามารถใช้เศษวัสดุได้ทุกชนิดที่ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ เศษไม้ แก้ว ซองขนม กากกาแฟ เป็นต้น โดยผลิตภัณฑ์ใหม่จะผ่านการรับรองด้วยฉลากอัพไซเคิลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ซึ่งประเทศไทยนับเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ดำเนินการระบบรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์
นอกจากนี้ ผศ.ดร.สิงห์ ยังเอ่ยถึงนิทรรศการ อัพไซคลิ่ง ว่าเป็นโครงการที่สร้างคุณค่าให้กับวัสดุเหลือใช้ด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ขึ้นมาใหม่ (Upcycling : Value Creation with Design) ซึ่งมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจขนาดย่อม หรือ SME ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าชมตัวอย่างผลงานดังกล่าวกว่า 30 ชิ้น ได้ภายในงาน TIFF 2016
ในขณะที่ ผศ.ดร.รัตนาวรรณ มั่งคั่ง ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกลยุทธ์ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (วีกรีน) คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ฉลากอัพไซเคิลคาร์บอนฟุตพริ้นท์เป็นการสร้างคุณค่าผลิตภัณฑ์อัพไซเคิล และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อว่ามาจากอัพไซเคิลจริงๆ ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องผ่านการประเมินทั้งหมด 5 ข้อ ทั้งในเรื่องของ เศษวัสดุ ที่ต้องมีสัดส่วนเศษวัสดุต่อชิ้นงานอย่างน้อย 20% นอกจากนี้ กระบวนการอัพไซเคิล ที่ควรคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและก๊าซเรือนกระจกโดยมีขั้นตอนการผลิตที่ไม่ยุ่งยาก ทางด้านคุณภาพผลิตภัณฑ์ ต้องมีคุณภาพเทียบเท่าหรือดีกว่าเดิม รวมถึงการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ และ คาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่จะต้องมีการประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวัฏจักรชีวิตของวัสดุหรือผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ ซึ่งในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ติดฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในประเทศไทยมากกว่า 1,000ผลิตภัณฑ์ จาก 500 บริษัท