กรุงเทพฯ--14 มี.ค.--เอ็ม เอส ไอ จี ประกันภัย
เอ็ม เอส ไอ จี ประกันภัย โชว์ผลประกอบการปี 58 เติบโต 5.2% มีเบี้ยประกันภัยรับรวมกว่า 3,800 ล้านบาท โกยกำไร 190 ล้านบาท ลั่นปี 59 คว้าเบี้ยประกันภัย 4,200 ล้านบาท รุกตลาดธุรกิจรายบุคคลและครองเจ้าตลาดประกันภัยการเดินทาง พร้อมขยายพื้นที่บริการสินไหมรถยนต์
นายรัฐพล กิติศักดิ์ไชยกุล กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็ม เอส ไอ จี ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ประจำปี 2558 ว่า เอ็ม เอส ไอ จี ประกันภัยมีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 3,817 ล้านบาท โดยจำแนกเป็นเบี้ยประกันภัยรถยนต์ 2,374 ล้านบาท ประกันอัคคีภัย 503 ล้านบาท ประกันภัยขนส่งสินค้าทางทะเล 460 ล้านบาท ประกันภัยอุบัติเหตุและอื่นๆ 325 ล้านบาท ประกันภัยสุขภาพ 99 ล้านบาท และประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอก 56 ล้านบาท โดยในปี 2558 มีอัตราการเติบโตทั้งหมด 5.2% เมื่อเทียบกับปี 2557 และโดยรวมมีการเติบโตที่ดีขึ้นจากประกันภัยรถยนต์ ซึ่งเติบโต11% ประกันภัยสุขภาพ 16% และประกันอุบัติเหตุและอื่นๆ 10% ในขณะที่ประกันภัยประเภทอื่นลดลงเล็กน้อย
"เราพอใจกับผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นปีที่ดีอีกปีหนึ่งของเอ็ม เอส ไอ จี ถึงแม้ว่าภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศจะชะลอตัว ผู้บริโภคใช้จ่ายระมัดะวัง แต่เรายังคงสร้างการเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ และมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าตลาดประกันวินาศภัยซึ่งโตราว 1.86% ทั้งนี้เราได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากคู่ค้าทางธุรกิจผ่านช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะช่องทางตัวแทนที่มีการเติบโตในส่วนของเบี้ยประกันภัย 15% และ Bancassurance 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้านี้ ในส่วนผลประกอบการอื่นๆ เรามีกำไรจากการรับประกันภัย 184.8 ล้านบาท กำไรจากการลงทุน 74.1 ล้านบาท และบริษัทฯ มีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 190 ล้านบาทหลังหักภาษี นอกจากนี้ เอ็ม เอส ไอ จี ยังมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนอยู่ที่ 418% ซึ่งมากกว่าที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) กำหนดไว้ถึง 3 เท่า"
นายรัฐพล กล่าวถึงแผนงานปี 2559 ต่ออีกว่า เอ็ม เอส ไอ จี ตั้งเป้าหมายเบี้ยประกันภัยรับปี 2559 อยู่ที่ 4,200 ล้านบาท โดยหลักๆ บริษัทฯยังคงรุกงานธุรกิจรายบุคคลต่อไป โดยเฉพาะประกันภัยการเดินทาง ซึ่งปีที่แล้วเติบโตถึง 93% และปีนี้ขอขึ้นเป็นผู้นำของตลาด โดยตั้งเป้าเติบโตเกิน 100% รวมถึงประกันภัยรถยนต์ที่ยังรักษาการเติบโตไปเรื่อยๆ ทางบริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับธุรกิจดิจิตอลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประสบความสำเร็จกับการขายประกันเดินทางออนไลน์อย่างมาก และมีพาร์ทเนอร์ดิจิตอลใหม่ๆอย่าง LINE Pay มาเสริมทัพของช่องทางการจ่ายเงินใหม่ที่เพิ่มความสะดวกให้แก่ลูกค้า รวมถึงการทำโปรโมชั่นร่วมกัน ซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยรายแรกที่ร่วมมือกับ LINE Pay มากไปกว่านั้น เอ็ม เอส ไอ จียังมีแผนที่จะช่วยคู่ค้าทางธุรกิจทุกช่องทางพัฒนา Microsite ให้เป็นเว็บไซด์ของคู่ค้าเอง ซึ่งสามารถขายผลิตภัณฑ์ของเอ็ม เอส ไอ จี ออนไลน์ได้ 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ บริษัทฯยังคงรุกเพิ่มในส่วนงานของกิจการสาขา เนื่องจากเป็นงานธุรกิจรายบุคคลที่สร้างผลกำไร ปีนี้จึงเป็นปีที่จะขยายงานและเบี้ยประกันภัยจากกิจการสาขาที่มีอยู่แล้วให้มากขึ้น มากกว่าการขยายจำนวนสาขา
"ขณะเดียวกัน ปี 2559 ยังเป็นปีแห่งการพัฒนางานบริการให้เป็นเลิศ โดยเรามีแผนขยายพื้นที่บริการให้ครอบคลุมมากที่สุด เช่น บริการสำรวจอุบัติเหตุรถยนต์โดยใข้พนักงานของบริษัทเอง หรือ MSIG In-House Surveyor ซึ่งเริ่มต้นเฟสแรกให้บริการในเขตกรุงเทพฯ ในปี 2558 และขยายบริการเพิ่มไปยังจังหวัดต่างๆในช่วงปลายปีที่ผ่าน เช่น กระบี่ พังงา ตรัง พิษณุโลก รวมถึง หาดใหญ่ ชลบุรี และปี 2559 จะขยายบริการไปยังพื้นที่ให้ครอบคลุมทุกสาขาที่เรามี นอกจากนี้ เรายังมีแผนขยายพื้นที่บริการของ อู่ My Garage ที่เอ็ม เอส ไอ จี คัดสรรอู่มาตรฐานในเครือให้มีมาตรฐานการซ่อมที่เทียบเท่ากับการซ่อมในศูนย์บริการ อู่ My Garage เปิดบริการไปแล้วในปี 2558 ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล ภาคตะวันออก ภาคกลางก่อน และปีนี้จะขยายอู่ My Garage ในภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคอีสานภายในไตรมาส 2 และสุดท้าย สำหรับงานบริการเพื่อรองรับ AEC ขณะนี้ เราได้ขยายความคุ้มครองไปถึงประเทศลาว โดยผู้เอาประกันภัยสามารถแจ้งขอขยายความคุ้มครองเพิ่มเติมในพื้นที่ลาวจากกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ฉบับเดิม และซื้อพรบ. เพิ่มเติมจาก MSIG ลาว หากเกิดอุบัติเหตุ สามารถใช้บริการจากเครือข่าย MSIG ลาวได้เลย ส่วนประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ กำลังศึกษาความเป็นไปได้อยู่"
นายรัฐพล กล่าวเสริมถึงแนวโน้มของอุตสาหกรรมประกันภัยในปี 2559 ว่าตลาดประกันภัยจะเติบโตประมาณ 4% ตามที่ คปภ. คาดการณ์ โดยมีปัจจัยหลักมาจากตลาดรถยนต์ที่อาจจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากมาตรการรถยนต์คันแรกได้ครบกำหนด 5 ปี รวมไปถึงตลาดการท่องเที่ยวที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง และการลงทุน Project ใหญ่ๆ ของภาครัฐที่จะช่วยกระตุ้นตลาดประกันวินาศภัย