กรุงเทพฯ--14 มี.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ภายหลังจากปี 2558 ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี(มจธ.)ได้จัดตั้งโครงการศูนย์บริการผลิตเซลล์เชิงพาณิชย์ หรือ Automated Tissue Kulture (ATK) ขึ้น พร้อมเปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ ที่เรียกว่า "หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในการเลี้ยงเซลล์" เพื่อใช้ในการผลิตเซลล์เชิงพาณิชย์รายแรกของไทย โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้อเทคโนโลยีดังกล่าวจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) รวมทั้งยังได้จัดสัมมนาให้ความรู้เกี่ยวกับ "Regenerative Medicine" เพื่อให้รู้และเข้าใจถึงสภาวะปัจจุบันของการนำเซลล์ไปใช้ในการรักษาและข้อกำหนดของการรักษาในประเทศไทย รวมทั้งยังเป็นการให้ความรู้ในเรื่องรูปแบบของการผลิตเซลล์ และกฎหมายควบคุมการรักษาแบบเวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อมในประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากปัจจุบันวงการแพทย์ทั่วโลกได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆออกมาเพื่อการรักษาอย่างไม่หยุดนิ่ง "Regenerative Medicin" เป็นการนำเซลล์ไปใช้ในการรักษา นับเป็นศาสตร์การรักษาใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก
ในปีนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้มีพิธีลงนามความร่วมมือด้านสเต็มเซลล์(Stem Cell) กับบริษัท โรงงานเภสัชกรรมเกร๊ทเตอร์ฟาร์ม่า จำกัด ณ ห้องประชุมสโรชา ชั้น 2 สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มจธ.(บางขุนเทียน) เพื่อสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา ที่จะนำไปสู่ความเป็นเลิศทางด้านวิชาการ เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านสเต็มเซลล์ และส่งเสริมการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะหรือสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของบริษัท รวมถึงการส่งเสริมการพัฒนาและแลกเปลี่ยน บุคลากร องค์ความรู้ และเทคโนโลยีระหว่าง 2 องค์กร เมื่อวันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา
รศ.ดร.บัณฑิต ฟุ้งธรรมสาร รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มจธ. กล่าวว่า มจธ.เป็นมหาวิทยาลัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ให้ความสำคัญกับการทำงานวิจัยที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม โดยเลือกทำงานวิจัยที่มีโอกาสนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ให้ได้มากที่สุด ซึ่งการเชื่ออมโยงกับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมในลักษณะของภาคี ถือเป็นความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ที่เป็นมาตรการสำคัญหนึ่งของมหาวิทยาลัยที่ดำเนินการอยู่เพื่อที่จะเพิ่มการทำงานวิจัยที่ตอบโจทย์และมีโอกาสที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ในที่สุด ซึ่งงานวิจัยด้าน Regenerative Medicine ต้องยอมรับว่าเป็นสาขาที่ค่อนข้างใหม่และมีความท้าทายสูง ต้องอาศัยความร่วมมือจากนักวิจับหลากหลายสาขาทั้งด้านวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และทางการแพทย์ อีกทั้งต้องอาศัยบุคลากรทั้งในและต่างประเทศโดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญและผู้ผลิตเครื่องผลิตเซลล์อัตโนมัติที่มีประสบการณ์มายาวนานจากประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนทางด้านเงินทุนเพื่อจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์ที่มีราคาค่อนข้างสูง จาก TCELS ตลอดจนงบวิจัยจากภาครัฐ และยังต้องการได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนด้วยเช่นกัน
" จึงนับเป็นโอกาสที่ดีและถือเป็นเกียรติจากบริษัทอุตสาหกรรมยาชั้นนำของประเทศเข้ามาร่วมมือในการวิจัยด้าน Regenerative Medicine กับทางมหาวิทยาลัย และยังเป็นการยืนยันว่างานวิจัยที่นักวิจัยเรากำลังทำอยู่นั้นมี
โอกาสที่จะไปสู่เชิงพาณิชย์ได้จริง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทาง มจธ.มีความคาดหวังค่อนข้างสูง และหวังอย่างยิ่งว่า จะได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากบริษัทฯ เพื่อให้นักวิจัยของมหาวิทยาลัยสามารถพัฒนางานวิจัยให้ก้าวหน้าได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน"
ด้าน ภก.เชิญพร เต็งอำนวย กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงงานเภสัชกรรมเกร๊ทเตอร์ฟาร์ม่า จำกัด กล่าวถึงแนวทางความร่วมมือว่า มีความยินดีและภูมิใจที่ได้มีความร่วมมือกับ มจธ.ซึ่งเป็นผู้นำด้านการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีทางด้านการผลิตชีววัตถุที่จะเป็น Regenerative Medicine ซึ่งต่อไปจะเป็นอุตสาหกรรมที่จะมีบทบาทสำคัญต่อประเทศไทยในอนาคต เพราะปัจจุบันทั่วโลกไม่เพียงญี่ปุ่นแม้แต่ยุโรปและอเมริกามีความก้าวหน้าในการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับสเต็มเซลล์กันไปมาก ขณะที่ไทยเองก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวแต่ยังต้องนำเข้า Regenerative เราจึงควรศึกษาเรียนรู้จากญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรผู้สูงอายุมากที่สุดในโลกเป็นตัวอย่างทั้งในเรื่องของระบบสุขภาพและเรียนรู้เทคโนโลยีสเต็มเซลล์ ดังนั้นความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นก้าวเล็กๆของบริษัทคนไทยที่มีความต้องการให้ไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้ทางด้านพัฒนา Regenerative Medicine ขึ้นเองในประเทศและจะเป็นการขับเคลื่อนให้เกิดผลิตภัณฑ์ออกสู่เชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งยังทำให้ความฝันที่จะเห็นประเทศไทยก้าวไปสู่ความเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ หรือ เมดิคัลฮับ อย่างเข้มแข็งและยั่งยืนนั้นเป็นจริงได้ ซึ่งก็ต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่ายที่จะร่วมกันขับเคลื่อนให้การทำวิจัยสำเร็จลุล่วงตั้งแต่ต้นจนจบก็จะเป็นผลดีต่อประเทศในที่สุด