กรุงเทพฯ--14 มี.ค.--กรมสุขภาพจิต
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเนื่องใน "วันไตโลก"(World Kidney Day) ซึ่งตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 2 ของเดือนมีนาคมในทุกปี โดยปีนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 10 มี.ค. 2559 ว่า ปีนี้ สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ได้เน้นการรณรงค์โรคไตในเด็กเป็นสำคัญ ภายใต้แนวคิด "โรคไตเป็นได้ตั้งแต่เด็ก รู้แต่เล็กป้องกันได้" เพื่อช่วยให้เด็กไทยเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพไตดี
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน คนไทยป่วยโรคไตเรื้อรังประมาณ 8 ล้านคน หรือร้อยละ 17 ครึ่งหนึ่งมีสาเหตุมาจากโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง โรคไตเรื้อรังเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด ผู้ป่วยมักมีภาวะแทรกซ้อนทางร่างกายอย่างรุนแรง อาการแสดงของโรคที่พบได้ คือ ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะขัด บวมที่หน้า เท้า ปวดหลัง ปวดเอว เบื่ออาหาร คลื่นไส้และความดันโลหิตสูง ส่วน ปัญหาสุขภาพจิตที่สำคัญของผู้ป่วยโรคไต คือ ภาวะซึมเศร้า ซึ่งเป็นผลจากการเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องรับการรักษาเป็นเวลายาวนาน เกิดความวิตกกังวลในเรื่อง ค่ารักษาพยาบาล ผู้ป่วยต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตภายใต้รูปแบบใหม่ที่ไม่คุ้นเคย ก่อให้เกิดภาวะเครียดและซึมเศร้าได้ง่าย ดังนั้น จึงต้องมีระบบบริการคัดกรองภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยโรคเรื้อรังเพื่อให้ผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิตเข้าสู่ระบบการรักษาได้ทันท่วงที ตลอดจนต้องมีการดูแลทางสังคมจิตใจและสร้างพลังใจให้ผู้ป่วยตระหนักและหันกลับมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอยู่กับโรค ลดภาวะแทรกซ้อน เช่น ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง งดอาหารรสเค็มจัด ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วนเกินมาตรฐาน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม พบว่า ในปัจจุบันได้มีการนำ"สติ" ไปใช้ในการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยมากขึ้น ซึ่งการฝึกสติจะช่วยให้ผู้ป่วยโรคไตมีพลังใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดูแลสุขภาพของตนเอง เช่น การรับประทานอาหารอย่างมีสติ โดย สำรวจอาหารก่อนกิน ว่าอาหารประเภทใดที่ควรหลีกเลี่ยงเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการงดบริโภคเค็ม ซึ่งมีอยู่ในอาหารรสเค็มจัด อาหารสำเร็จรูป กึ่งสำเร็จรูป ให้เลือกอาหารที่มีประโยชน์ ดีต่อสุขภาพ และเมื่อมีความเครียดความวิตกกังวล หรือความรู้สึกไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ให้กลับมามีสติอยู่กับลมหายใจในปัจจุบัน และการฝึกสมาธิเป็นประจำทุกวัน จะช่วยลดความทุกข์ทางกายและใจได้ด้วย อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว