กรุงเทพฯ--15 มี.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จำนวน 15 จังหวัด พร้อมประสานจังหวัดจัดทำบัญชีแหล่งน้ำทั้งในและนอกเขตชลประทาน สำรวจความต้องการใช้น้ำภาคครัวเรือน รวมถึงจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมช่วยเหลือผู้ประสบภัย รณรงค์ให้ทุกภาคส่วนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำให้เหมาะสม โดยวางแผนการใช้น้ำที่มีปริมาณจำกัดให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ตลอดจนพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามแนวทางที่กำหนดในระเบียบกระทรวงการคลังฯ เพื่อให้การใช้น้ำเป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่กำหนด ส่งผลให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตภัยแล้ง ในครั้งนี้ไปได้ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จำนวน 15 จังหวัด 60 อำเภอ 278 ตำบล 2,369 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 3.16 ของจำนวนหมู่บ้านทั่วประเทศ แยกเป็น ภาคเหนือ 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ พะเยา สุโขทัย นครสวรรค์ และน่าน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา นครพนม มหาสารคาม และบุรีรัมย์ ภาคกลาง 2 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี และเพชรบุรี ภาคตะวันออก 3 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว จันทบุรี และชลบุรี รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ห่วงใยประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยแล้ง จึงได้สั่งการให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประสานจังหวัดและหน่วยงานทุกภาคส่วนดำเนินการในรูปแบบ "ประชารัฐ" ภายใต้มิติการทำงานเชิงพื้นที่ กำหนดแนวทาง การดำเนินงานที่เป็นระบบ แบ่งพื้นที่รับผิดชอบ และมอบหมายภารกิจความรับผิดชอบแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน เพื่อวางแผนให้การช่วยเหลือได้สอดคล้องกับสภาพปัญหา ทั่วถึง และครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยแยกการดำเนินงานเป็นด้านต่างๆ ดังนี้ 1. ด้านการเตรียมการ ตรวจสอบปริมาณน้ำ จัดทำบัญชีแหล่งน้ำทั้งในและนอกเขตชลประทาน สำรวจความต้องการใช้น้ำ ภาคครัวเรือน ปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่ทั้งน้ำผิวดิน และน้ำใต้ดิน จุดที่สามารถขุดเจาะบ่อบาดาล และพัฒนาแหล่งน้ำ คำนวณระยะเวลาการใช้น้ำที่มีอยู่จริง รวมถึงจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมช่วยเหลือผู้ประสบภัย เน้นการกระจายน้ำทั่วถึง และกำหนดจุดแจกจ่ายน้ำที่เข้าถึงกลุ่มผู้ใช้น้ำทุกกลุ่ม พร้อมทั้งจัดลำดับความสำคัญของปัญหา โดยคำนึงถึงการให้ช่วยเหลือด้านน้ำอุปโภคบริโภค เป็นลำดับแรก น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ และน้ำเพื่อการเกษตรเป็นลำดับรองลงมา 2. ด้านการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ การบริหารจัดการน้ำ รวมถึงการรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนร่วมกันใช้น้ำมีปริมาณจำกัดอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด กักเก็บน้ำสำรองไว้ใช้ในยามขาดแคลน รณรงค์การเพาะปลูกพืชอายุสั้นใช้น้ำน้อยที่มีตลาดรองรับผลผลิต หากมีความจำเป็นต้องดำเนินมาตรการประหยัดน้ำอย่างจริงจัง ให้ประชาสัมพันธ์แจ้งแนวทางการให้บริการแก่ประชาชนผู้ใช้น้ำทราบอย่างทั่วถึง กรณีเกิดปัญหาการแย่งน้ำ ให้ใช้กลไกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกับฝ่ายปกครอง หน่วยทหาร ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจแก่ประชาชน สำรวจสภาพลำน้ำสายต่างๆ ป้องกันการลักลอบสูบน้ำ การนำน้ำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ การจัดทำคันกั้นน้ำ รวมถึงให้ใช้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด ภายใต้พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ในการแก้ไขปัญหา เน้นการเจรจาให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว 3. ด้านการให้ความช่วยเหลือ พิจารณาให้ความช่วยเหลือตามแนวทาง ที่กำหนดในระเบียบกระทรวงการคลังฯ ให้ความสำคัญกับการจัดสรรน้ำอุปโภคบริโภคเป็นลำดับแรก ควบคู่กับการจัดหาน้ำสนับสนุนเพิ่มเติมในแหล่งน้ำดิบต่างๆ ทั้งการปฏิบัติการฝนหลวง การใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำใต้ดิน การสูบน้ำ และจัดหารถบรรทุกน้ำแจกจ่ายน้ำสนับสนุนแหล่งเก็บน้ำดิบ ถังเก็บน้ำกลางประจำหมู่บ้านและระบบประปาหมู่บ้าน ทั้งนี้ เพื่อให้การใช้น้ำเป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่กำหนด ซึ่งจะทำให้มีน้ำเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้งและประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตภัยแล้ง ในครั้งนี้ไปได้ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน
0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th