กรุงเทพฯ--15 มี.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
สมศ. ชี้ ประเทศไทยมีเด็กก่อนวัยเรียนอายุต่ำกว่า 6 ปี จำนวนกว่า 4.5 ล้านคน ซึ่งเด็กเหล่านี้ คือทรัพยากรที่มีคุณค่าที่จะพัฒนาประเทศชาติต่อไปในอนาคต โดยเด็กเหล่านี้ได้รับการอบรมเลี้ยงดูและจัดประสบการณ์การเรียนรู้ในสถานศึกษาต่างๆ ที่เรียกชื่อต่างๆ กัน เช่น สถานรับเลี้ยงและพัฒนา สถานรับเลี้ยง ดังนั้น ศูนย์พัฒนาเด็กที่มีทั่วประเทศกว่า 21,924 แห่ง จึงจำเป็นต้องมีการตรวจสอบมาตรฐานและควบคุมคุณภาพ เพื่อให้การพัฒนาเด็กมีคุณภาพและได้มาตรฐาน
ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) หรือ สมศ. กล่าวในการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ประจำปี พ.ศ. 2558 ภายใต้แนวคิด "ก้าวข้ามขีดจำกัด...สู่สหัสวรรษแห่งคุณภาพ" ในหัวข้อ "ศูนย์พัฒนาเด็กกับการประกันคุณภาพการศึกษา"ว่า การศึกษาปฐมวัยเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เนื่องจากเด็กปฐมวัยหรือเด็กวัยตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 5 ปี เป็นช่วงวัยแห่งการเรียนรู้ ช่างสังเกต และจดจำสิ่งรอบตัวอยู่เสมอ และเกิดพฤติกรรมเลียนแบบบุคคลแวดล้อม ซึ่งนอกจากพ่อแม่ และครอบครัวจะเป็นผู้ดูแลเด็กแล้ว ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนหรือที่เรียกในปัจจุบันว่าเนอร์สเซอรี่ (Nursery) ก็เป็นสถานที่ที่กำลังเป็นที่นิยมของคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่
ปัจจุบันมีศูนย์พัฒนาเด็ก 21,924 แห่ง และเฉพาะในกรุงเทพฯ นั้นมี 640 แห่ง เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของสังคมเมืองที่พ่อแม่ไม่มีเวลาเลี้ยงดูลูก แต่ทว่ามักจะได้ยินข่าวเป็นประจำ เรื่องของการทำร้ายเด็ก หรือการเลี้ยงดูอย่างไม่ได้คุณภาพจากศูนย์พัฒนาเด็กที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วง หากคุณพ่อคุณแม่ต้องฝากลูกไว้ในความดูแลของสถานที่หรือบุคคลไม่มีมาตรฐาน ในการจะส่งผลต่อพัฒนาการการเติบโตและการเรียนรู้ของเด็กอย่างแน่นอน
ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ กล่าวต่อว่า ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิรูปการศึกษาปฐมวัย ตามนโยบายการปฏิรูปการศึกษาแบบองค์รวมของกระทรวงศึกษาธิการใน ปีพ.ศ. 2559 นี้ ที่ต้องจัดให้มีการประเมินคุณภาพภายนอกของสถานศึกษาทุกแห่งเพื่อเป็นการสร้างมาตรฐานคุณภาพการศึกษาทุกระดับเท่าเทียมกัน และจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้เรียน ผู้ปกครอง และสังคมโดยรวม โดย สมศ. มีแผนการจัดให้มีการประเมินคุณภาพมาตรฐานของศูนย์พัฒนาเด็ก ในการประเมินคุณภาพภายนอกที่กำลังจะถึงในอนาคตอันใกล้ ซึ่งคาดว่าการประเมินดังกล่าวจะครอบคลุม 3 ด้าน ได้แก่ ด้านผู้บริหาร ด้านครู และด้านผู้เรียน
" ทั้งนี้ สมศ. ยังคงมุ่งมั่นในการประเมินคุณภาพการศึกษาของไทยในทุกระดับ เพื่อให้สถานศึกษาสามารถยกระดับมาตรฐานผู้เรียนให้มีศักยภาพตั้งแต่ปฐมวัย จนถึงอุดมศึกษา พร้อมก้าวสู่ชีวิตทำงานอย่างมีมาตรฐาน และนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยอย่างยั่งยืน"
สำหรับคณาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือเข้าไปที่www.onesqa.or.th