กทม.ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม จ.เพชรบูรณ์ ห่วงแต่มีพายุจรเข้ามาอีกครั้ง

ข่าวทั่วไป Thursday September 14, 2000 09:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ก.ย.--กทม.
ที่ศาลาว่าการกทม. 2 ดินแดง เมื่อวานี้ (13 ก.ย.43) เวลา 12.00 น. นายประเสริฐ สมะลาภา ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานประชุมการคาดหมายภาวะน้ำและอากาศ โดยมีนายมานะ นพพันธ์ รองปลัดกทม. นายธงชัย กลั่นกรอง ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ นายวิรัตน์ ขาวอุปถัมภ์ ผู้อำนวยการสำนักอุทกวิทยาและบริหารน้ำ กรมชลประทาน นายไพบูลย์ พิพัฒนสมพร ผู้ช่วยอำนวยการฝ่ายควบคุมระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิต นายเกียรติชัย ชัชวาลย์วงศ์ หัวหน้าฝ่ายพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา น.ต.คมสัน กลิ่นสุคนธ์ หัวหน้าแผนกระดับน้ำ กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ พร้อมด้วยคณะร่วมประชุม
นายประเสริฐ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ปัญหาน้ำท่วมที่จังหวัดเพชรบูรณ์ พิษณุโลก และบางจังหวัดทางภาคอีสาน
ในขณะนี้จะไม่ส่งผลกระทบกับกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ปริมาณน้ำที่จะมีผลกระทบต่อกทม. คือ น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันปริมาณของน้ำที่ปล่อยออกจากเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนป่าสักฯ รวมแล้วประมาณ 1,800 ลบ.ม./วินาที และปริมาณน้ำที่ทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่งได้นั้นมีปริมาณ 2,500 ลบ.ม./วินาที
ในส่วนการป้องกันน้ำท่วมบริเวณสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยานั้น กทม.ได้ก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมเสร็จแล้วประมาณ 25 ก.ม. และกทม.ยังมีพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีระดับสูงสามารถป้องกันน้ำท่วมบ้านเรือนได้ประมาณ 20 ก.ม. ซึ่งจะปรับปรุงให้มีสภาพดีขึ้นต่อไป รวมทั้งมีส่วนที่ใช้กระสอบทรายเป็นแนวป้องกันชั่วคราวอีก 10 กม. ความสูงประมาณ 2 เมตร จากระดับน้ำปานกลาง สำหรับในอนาคตหากปริมาณน้ำที่ปล่อยออกจากเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนป่าสักฯ แล้วมีผลทำให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีระดับสูงขึ้น กทม.ก็จะสามารถเสริมความสูงแนวกระสอบทรายได้ในระยะเวลาอันสั้น ส่วนบริเวณด้านตะวันออกของกทม.นั้น ทางกรมชลประทาน กล่าวว่า ไม่มีผลกระทบเนื่องจากแม่น้ำบางปะกงยังรับได้
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวอีกว่า ขณะนี้ร่องความกดอากาศต่ำกำลังเคลื่อนลงมากรุงเทพมหานคร จากการพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ทราบว่า จะมีฝนตกเพิ่มขึ้น แต่เมื่อรวมกับปริมาณของน้ำทะเลหนุนจะทำให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาไม่สูงมากในช่วงเดือนกันยายนถึงกลางเดือนตุลาคมนี้ กทม.จึงยังค่อนข้างปลอดภัย
นายเกียรติชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า จากวันนี้ต่อไปอีก 7 วันข้างหน้า จะปลอดจากพายุ แต่ประเทศไทยยังมีลักษณะของฝนตกตามช่วงฤดูกาล (ฤดูฝนที่เกิดจากร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่าน) และในเร็ว ๆ นี้มีแนวโน้มอากาศเย็นเริ่มแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือแล้วจะเคลื่อนตัวลงสู่ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งคาดว่าจะมีฝนตกในภาคกลางประมาณวันที่ 15-16 ก.ย.นี้ แต่จะเป็นแนวของฝนที่ไม่รุนแรง
ด้านนายวิวัฒน์ กล่าวด้วยว่า ทางลุ่มแม่น้ำป่าสักที่ขณะนี้จังหวัดเพชรบูรณ์ประสบปัญหาน้ำท่วมอยู่นั้น กรมชลประทานจะใช้เขื่อนป่าสักฯ ทำการเก็บกักน้ำไว้ แล้วจะบริหารจัดการเรื่องน้ำด้วยการบังคับควบคุมปริมาณน้ำ เพื่อไม่ให้อำเภอ จังหวัดที่อยู่ใต้เขื่อนดังกล่าวเกิดปัญหาน้ำท่วม เช่น อ.ท่าเรือ จ.อยุธยา รวมทั้งกทม.ด้วย ทั้งนี้น้ำท่วมที่ จ.เพชรบูรณ์จะไม่ส่งผลกระทบต่อกทม. แต่ถ้ามีฝนตกท้ายเขื่อนภูมิพลฯ เขื่อนสิริกิติ์ฯ ซึ่งตกในลุ่มแม่น้ำยม จะเป็นน้ำที่ควบคุมปริมาณไม่ได้ ก็ต้องเฝ้าระวังว่าในช่วงต่อไปนี้จะมีพายุเข้ามาอีกหรือไม่ กล่าวคือถ้าเป็นน้ำฝนที่เกิดจากร่องมรสุมธรรมดาคิดว่า คงมีปริมาณน้ำไม่มากไปกว่าปีที่แล้ว รวมทั้งคงไม่มีปัญหาและเกิดผลกระทบต่อกทม. แต่อย่างใด ทั้งนี้จะต้องติดตามข่าวสารจากกรมอุตุนิยมวิทยาต่อไป หากไม่มีพายุจรผ่านมา กทม.จะปลอดภัยจากภัยน้ำท่วม--จบ--
-นศ-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ