กรุงเทพฯ--16 มี.ค.--สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน
ซินโครตรอน ร่วมกับ โรงเรียนจิตรลดา จัดกิจกรรม "ค่ายนักวิทยาศาสตร์น้อย... ท่องแดนซินโครตรอน" สำหรับนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 6 มุ่งหวังปลูกฝังการคิดแบบนักวิทยาศาสตร์ เรียนรู้และทำความรู้จักกับเทคโนโลยีแสงซิน โครตรอน เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2559 ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จ.นครราชสีมา กิจกรรมในค่ายไม่เพียงแต่มีการบรรยายภาควิชาการเท่านั้น แต่ยังอัดแน่นไปด้วยฐานการทดลองวิทยาศาสตร์ ที่ให้เด็กๆ ได้ลงมือทำการทดลองด้วยตัวเอง นอกจากนี้ยังมีการแสดง Science Show ที่สร้างความสนุก ตื่นเต้น แฝงไปด้วยความรู้แบบที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม พบเจอได้ในชีวิตประจำวันอีกด้วย
อาจารย์ มีนา รอดคล้าย รองผู้อำนวยการฝ่ายประถมศึกษา โรงเรียนจิตรลดา เปิดเผยว่า "กิจกรรมค่ายนักวิทยาศาสตร์น้อย...ท่องแดนซินโครตรอน เกิดขึ้นเนื่องจากพระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระองค์ทรงสนพระทัยและให้ความสำคัญกับงานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสนับสนุนการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์มาตลอด โดยทรงมีพระประสงค์ให้นักเรียนในระดับประถมศึกษาได้รู้จักกับเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีขั้นแสงสูงที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาวงการวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย ทางโรงเรียนจิตลดาจึงได้ประสานมาทางสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนร่วมกันจัดกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ ที่เน้นให้เด็กๆ ได้ตระหนักว่า กระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์นั้นมีความสำคัญอย่างไร อีกทั้งการจัดกลุ่มทำการทดลองเพื่อฝึกให้มีความทำงานร่วมกันเป็นทีม สร้างความสามัคคีในกลุ่มของนักเรียน"
ศาสตราจารย์ นาวาอากาศโท ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า "ค่ายนักวิทยาศาสตร์น้อย...ท่องแดนซินโครตรอน จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งสร้างแรงบันดาลใจการเป็นนักวิทยาศาสตร์ตั้งแต่รุ่นเยาว์ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นนักเรียนระดับประถมศึกษากว่า 120 ชีวิต และคุณครูอีก 32 ท่าน โดยกิจกรรมประกอบไปด้วย การบรรยายความรู้เบื้องต้นของแสงซินโครตรอน การบรรยายพิเศษจาก ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ชื่อดัง และที่ถือเป็นไฮไลท์ของค่ายนี้คือ ฐานการทดลองที่จัดขึ้นในรูปแบบของ walk rally ทั้งหมด 10 ฐานการทดลอง ยกตัวอย่างเช่น สเปกตรัมของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า โพลาไรเซชันของแสง สิ่งมีชีวิตจิ๋วรอบตัว เครื่องเปลี่ยนทรงผมสุดแนว ยาสีฟันช้าง เป็นต้น ซึ่งแต่ละฐานการทดลอง เด็กๆ จะมีส่วนร่วมในการออกแบบการทำการทดลองด้วยตัวเอง ฝึกการคิด การตัดสินใจ การทำงานร่วมกันเป็นทีม นอกจากนี้ยังมีการแสดง Science Show ในหัวข้อ Laser microscope กล้องจุลทรรศน์ทำเองได้ด้วยการใช้แสงเลเซอร์และหยดน้ำ และปิดท้ายด้วย การประดิษฐ์ ขดลวดหมุนได้ (Homopolar motor) ของเล่นแนววิทยาศาสตร์ ที่เด็กๆ ได้ชิ้นงานนี้กลับบ้านอีกด้วย"