กรุงเทพฯ--16 มี.ค.--กรมอุทยานฯ
3 มีนาคมของทุกปี คือ วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก (World Wildlife Day)วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นวันที่ก่อตั้งภาคีอนุสัญญาไซเตส เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2516 เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักให้กับกลุ่มประเทศภาคีอนุสัญญาไซเตส 178 ประเทศ ในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าและพันธุ์พืชเพื่อประโยชน์แห่งมวลมนุษยชาติ
โดยในปี 2559 มีการกำหนดหัวข้อในการประชุมคือ "The future of wildlife is in our hands." เพื่อให้สาธารณชนได้ตระหนักว่า อนาคตของสัตว์ป่าอยู่ในมือของเรา เพื่อให้ทุกคนตระหนักว่าอาชญากรรมด้านสัตว์ป่าและพืชป่าเป็นปัญหาที่ร้ายแรง ต้องต่อต้านและหยุดยั้งอย่างจริงจัง ด้วยการไม่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง สนับสนุน ให้ความร่วมมือหรือเป็นส่วนหนึ่งในการก่ออาชญากรรมดังกล่าว
นายอดิศร นุชดำรงค์ รองอธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวว่า สถานการณ์สัตว์ป่า ที่ทั่วโลกค่อนข้างเป็นห่วงคือแรด กับ เสือ เพราะมีความต้องการมากขึ้นเรื่อย ๆ จากค่านิยมที่ผิด ๆ เชื่อว่านอแรดเป็นส่วนผสมของยาได้ เมื่อนำมันมาฝนให้เป็นผงบ้างก็ว่าเป็นยาอายุวัฒนะ หรือ ยาโด๊ปบ้าง สุดท้ายที่เป็นความเชื่อล่าสุดคือ นอแรดสามารถผสมทำยาที่จะรักษาโรคมะเร็งได้ ทำให้แรดถูกไล่ล่ามากขึ้น เส้นทางการค้านอแรดเริ่มจากแอฟริกา แล้วถูกส่งผ่านเข้ามาที่โซนเอเชีย ส่วนตลาดที่มีความต้องการนอแรดลักลอบตัดเหล่านี้คือ ประเทศ เวียดนาม ฮ่องกง และจีน เป็นต้น เช่นเดียวกับเสือโคร่งที่ถูกไล่ล่าคุกคามอย่างหนัก "สถานการณ์เสือโคร่ง ปัจจุบันอยู่ในภาวะถูกคุกคามอย่างหนักจากขบวนการลักลอบ ค้าสัตว์ป่า เพราะมีราคาซื้อขายในตลาดมืดสูงมากอยู่ระหว่างตัวละ 3-5 แสนบาท แต่ถ้าเป็นเสือโคร่งตัวใหญ่ที่เอาไปแสดงโชว์ราคาตกตัวละ 1 ล้านบาท จนน่าเป็นห่วงว่าเสือโคร่งจะถูกล่ามากขึ้น แต่ยังถือว่าดีขึ้นมากถ้าเทียบกับเมื่อ 5-10 ปีก่อนหน้านี้ กรมอุทยานฯ ได้มีการตรวจสอบการส่งสัตว์ป่าข้ามแดน เพราะการส่งเสือโคร่งไปขายจากต่างประเทศไม่ได้มีเฉพาะ ที่จับมาจากธรรมชาติเท่านั้น เพราะปัจจุบันสวนสัตว์ต่าง ๆ สามารถเพาะเลี้ยงเสือโคร่งได้ และมีการลักลอบนำไปจำหน่าย ดังนั้น การเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น จึงเป็นสิ่งสำคัญในการอนุรักษ์เสือโคร่งให้อยู่คู่กับธรรมชาติ ปัจจุบันน่าจะมีเสือตามธรรมชาติประมาณ 200 ตัวเศษ แต่ประเทศไทยมีข้อตกลงกับผู้นำและเจ้าหน้าที่ระดับสูงจาก 13 ประเทศที่เป็นถิ่นกำเนิดของเสือโคร่ง ซึ่งมาประชุมและลงนามในปฏิญญาร่วมกันที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สหพันธรัฐรัสเซียว่าจะมีการเพิ่มประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติให้ได้ 2 เท่าในปี พ.ศ. 2565 ที่น่าเป็นห่วงอีกอย่างเกี่ยวกับเสือโคร่งคือพื้นที่ป่าที่เป็นที่อยู่อาศัยถูกบุกรุกมากขึ้น ล่าสุดมีการเรียกร้องให้มีการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ถ้ามีการสร้างเมื่อไรจะเท่ากับเป็นการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของเสือทันที เพราะพื้นที่ดังกล่าวเชื่อต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งมีประชากรเสือโคร่งบางส่วนขยายตัว กระจายเข้าไปอาศัยอยู่"นายอดิศร กล่าว
นายอดิศร ยังกล่าวถึงสถานการณ์ของพืชป่า ว่า การบุกรุกทำลายป่ายังน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะไม้พะยูง แทบจะหมดจากป่าของประเทศไทยไปแล้ว ยังเหลืออยู่บ้างแต่ไม่มากขณะที่ไม้ชังชัน ก็กำลังถูกตัดโค่น เพราะมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับไม้พะยูง