กรุงเทพฯ--16 มี.ค.--เอสเอ็มอีแบงก์
ในวันนี้ (16 มีนาคม 2559) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ได้แถลงข่าว "ผลการดำเนินงานเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2559 และการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs" โดยนางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ และ นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ เอสเอ็มอีแบงก์ ดังนี้
1. กำไรสุทธิ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 151 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นกำไรต่อเนื่องจากเดือนมกราคมที่ผ่านมา จากการปล่อยสินเชื่อที่มีคุณภาพดีได้มากขึ้น ทำให้มีดอกเบี้ยรับเพิ่ม และมีการควบคุมดอกเบี้ยจ่ายและค่าใช้จ่ายอยู่ในระดับไม่สูงเกินไป โดยรวม 2 เดือน (มกราคม-กุมภาพันธ์) ธนาคารมีกำไรสุทธิรวม 341 ล้านบาท
2. สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ณ สิ้นกุมภาพันธ์ 2559 ธนาคารมี NPLs คงเหลือ 23,276 ล้านบาท (คิดเป็น 26.07% ของสินเชื่อรวม) ลดลงจากสิ้นปี 2558 ที่มี NPLs อยู่ที่ระดับ 23,452 ล้านบาท (คิดเป็น 27.23% ของสินเชื่อรวม) ทั้งนี้ NPLs ในเดือนกุมภาพันธ์ลดลงจากเดือนมกราคม ปี 2559จำนวน 319 ล้านบาท เป็นผลมาจากระบบการบริหารติดตามคุณภาพลูกหนี้ของธนาคาร (Loan Monitoring) สามารถสกัดไม่ให้ลูกหนี้ตกชั้นได้ดีขึ้น กอปรกับธนาคารสามารถปรับโครงสร้างลูกหนี้ได้มากขึ้น แม้จะอยู่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวก็ตาม
3. ด้านสินเชื่อ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2559 เอสเอ็มอีแบงก์มียอดเงินให้สินเชื่อรวมคงค้าง 89,296 ล้านบาท ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2559 ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้รวม 6,909 ล้านบาท ให้แก่ลูกหนี้ 2,316 ราย เฉลี่ยการปล่อยกู้ต่อราย 2.98 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 4% สินเชื่อ Soft Loan และสินเชื่อ Policy Loan ที่กำลังเร่งดำเนินการปล่อยกู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เข้าถึงผู้ประกอบการรายย่อย ๆ โดยสินเชื่อต่อรายเฉลี่ยเดือนมกราคม 3.04 ล้านบาท และสินเชื่อต่อรายเฉลี่ยเดือนกุมภาพันธ์ 2.72 ล้านบาท
4. โครงการร่วมลงทุน ขณะนี้ธนาคารได้ร่วมลงทุนโดยอนุมัติหลักการไปแล้ว 3 กิจการ รวม 15 ล้านบาท ประกอบด้วย บริษัท ฟรุ๊ตต้า ธุรกิจผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มธัญญพืชเพื่อสุขภาพ (5 ล้านบาท) บริษัท ไทยริชฟู๊ดส์ ธุรกิจผลิตและจำหน่ายขนมไทยแช่แข็ง ( 5 ล้านบาท) และล่าสุดอยู่ในกระบวนการร่วมลงทุนกับ บริษัท บ้านผลไม้ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลไม้แปรรูปได้รับ OTOP 5 ดาว ซึ่งตลาดกำลังขยายตัวเป็นที่นิยมปัจจุบันมีกลุ่มตลาดรองรับ เช่น การบินไทย S&P และยังเปิดร้านจำหน่ายที่สยามพารากอน เอ็มควอเทียร์ เซ็นทรัลเชียงราย และสนามบินแม่ฟ้าหลวง นอกจากนี้เป็นผู้ผลิตผ่านตัวแทนจำหน่ายไปขายยังต่างประเทศ จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ อีกด้วย และขณะนี้มีกิจการ SMEs ที่เตรียมพิจารณาเข้าร่วมลงทุนอีก 3 ราย วงเงินประมาณ 60 ล้านบาท ซึ่งเป็นธุรกิจด้านเกษตรแปรรูป และซอฟท์แวร์ด้านไอทีคลังสินค้า และอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมอีก 20 กิจการ วงเงินรวม 370 ล้านบาท
5. ด้านพัฒนาผู้ประกอบการ ธนาคารเปิดตัวโครงการ Co-Working Space ให้แก่ผู้ประกอบการ ประเภท Startup และดำเนินกิจการอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีสถานที่ทำงานของตนเอง โดยธนาคารได้จัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวก ประกอบด้วย ที่นั่งโต๊ะทำงาน, Mini Office และ Meeting Room หรือ Seminar Room มากกว่า 100 ที่ พร้อมระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง (Wi-Fi) Printer Multi-Function 100 ที่ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถมาใช้ได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และอื่นๆ นอกจากนี้ยังได้จัดให้มีกิจกรรมในรูปแบบของ S-Talk, S-Class, S-Cafe', S-Counselor และ S-Pitching ให้ผู้ประกอบการได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากกูรูหรือผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านอย่างใกล้ชิด พร้อมการนำเสนอโครงการต่อนักลงทุน ณ อาคารสำนักงานใหญ่ SME Bank Tower ชั้น 1 ติดสถานีรถไฟฟ้า BTS สถานีอารีย์ ตั้งแต่เวลา 8.30-18.00 น. วันจันทร์ ถึง วันศุกร์
พร้อมกันนี้ ธนาคารได้สนับสนุนผู้ประกอบการ Startup และ SMEs ที่ประกอบกิจการอยู่แล้ว ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านต่างๆ ดังนี้
(1) สนับสนุนนักเรียนนักศึกษาเริ่มต้นธุรกิจใหม่ในโครงการปั้นธุรกิจพิชิตเงินแสน โดยเอสเอ็มอีแบงก์ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสนับสนุนและเสริมสร้างวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทยกับบริษัทเดลต้า อิเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นโครงการสืบเนื่องจากงานสุดยอด SMEs ของดีทั่วไทย คลองผดุงกรุงเกษม เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งรับสมัครนักเรียนนักศึกษาที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจ เข้าประกวดในโครงการ โดยบริษัทเดลต้า อิเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ให้การสนับสนุนเงินทุน 1,000,000 บาท มีนักเรียนนักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือก 11 ราย ที่จะได้รับทุนเบื้องต้น รายละ 20,000 บาท และจะมีการคัดเลือกอีกครั้งเพื่อให้ทุนสนับสนุนไปเริ่มต้นธุรกิจ โดยมีเอสเอ็มอีแบงก์พร้อมให้เงินทุนเพื่อต่อยอดเติบโต พร้อมให้คำปรึกษาแนะนำในเชิงธุรกิจและการตลาดต่อไป
(2) สนับสนุนผู้ประกอบการกลุ่ม SMEs-Startup ผ่านศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (Science Park) ซึ่งขณะนี้ธนาคารได้เข้าเป็นภาคีใกล้ชิดกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งมีนวัตกรรมเชิงวิจัย เช่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยสงขลา ซึ่งทั้งสองมหาวิทยาลัยดังกล่าวจะมีส่วนสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs-Startup ช่วยพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ในการทำธุรกิจต่อไป ซึ่งขณะนี้มีผู้ประกอบการรายย่อย 6 รายในพื้นที่ที่ได้ผ่านกระบวนการ บ่มเพาะจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประกอบด้วย ธุรกิจก๋วยจั๊บกึ่งสำเร็จรูป 3 แบรนด์ ธุรกิจเฉาก๋วยโบราณ ข้าวเกรียบจากหมูยอ หมูนุ่มแดดเดียว ซึ่งธนาคารพร้อมเข้ามาสนับสนุนเงินทุนต่อยอดธุรกิจให้เติบโตต่อไป
(3) สนับสนุนผู้ประกอบการกลุ่ม SMEs ที่เป็น Social Enterprise โดยเป็นธุรกิจที่ทำประโยชน์เพื่อชุมชนช่วยให้ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มมากขึ้นโดยไม่ได้หวังกำไรสูงสุด ซึ่งธนาคารเล็งเห็นว่าผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีประโยชน์ต่อสังคมและพร้อมให้การสนับสนุนโดยล่าสุดธุรกิจบ้านดินอาข่าดอยแม่สลอง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เป็นตัวอย่างหนึ่งของธุรกิจได้นำวัสดุธรรมชาติที่เหลือใช้มาผนวกกับงานด้านศิลป์ เพื่อสร้างบ้านพักดินที่ยังคงกลิ่นอายของวิถีชีวิตของชุมชนเผ่าแบบดั้งเดิม เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เข้าถึงธรรมชาติ วัฒนธรรม และเป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตชาวอาข่า และก่อเกิดรายได้หล่อเลี้ยงคนในชุมชน ซึ่งนับเป็นตัวอย่างที่ดีของการสนับสนุนเงินทุนสร้างธุรกิจคืนสู่สังคมต่อไป
6. โครงการประชารัฐสุขใจ Shop ธนาคารยังได้เข้าร่วมในโครงการร้านค้าประชารัฐสุขใจ Shop เพื่อสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนให้นำสินค้าไปวางขายที่ปั๊มน้ำมัน ปตท. ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ 148 ร้านค้า โดยเอสเอ็มอีแบงก์เป็นหนึ่งในหน่วยงานร่วมดำเนินการคัดเลือกสินค้า และช่วยปรับปรุงมาตรฐานสินค้าของชุมชน โดยเป็นความร่วมมือระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย( ททท.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ( พช.) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และเอสเอ็มอีแบงก์ ที่โครงการจะเปิดอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนเมษายน 2559 นี้
7. ธนาคารจัดอบรมหลักสูตรสิทธิประโยชน์บัญชีเดียวทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลดึงผู้ประกอบการ SMEs และลูกค้าธนาคาร จดแจ้งมาตรฐานบัญชีเดียวกับกรมสรรพากร ซึ่งธนาคารได้จัด อบรมทั่วประเทศ มีผู้ประกอบการ SMEs และลูกค้าเข้าร่วมอบรมกิจกรรมประมาณ 5,000 ราย และในจำนวนดังกล่าว มีลูกค้าของธนาคารจาก 27 จังหวัด ที่เข้าจดแจ้ง 100%