กรุงเทพฯ--16 มี.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ภายหลังจากเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย พณฯ จิลส์ การาซง ได้มอบเครื่องอิสริยาภรณ์ชั้นออฟฟิซิเอร์ (The Order of Academic Palms, Officier Level) ให้แก่ รศ. ดร. บัณฑิต ฟุ้งธรรมสาร รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในฐานะเป็นบุคคลที่อุทิศตนให้กับการวิจัยสาขาพลังงานและการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งมีผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิจัยเชิงนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายและแผนอนุรักษ์พลังงานระยะยาวของประเทศที่จะนำไปสู่การประหยัดและเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในที่สุด รวมทั้งผลงานที่โดดเด่นด้านการส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาและวิจัยในสาขาดังกล่าวระหว่างไทยกับฝรั่งเศสตลอดระยะเวลากว่า 25 ปีที่ผ่านมา รศ. ดร. บัณฑิตฯ เป็นบุคคลที่ทุ่มเททำงานเพื่อสร้างความก้าวหน้าให้แก่การวิจัยด้านพลังงานที่ยั่งยืนในประเทศไทย และเป็นตัวอย่างของความสำเร็จในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศฝรั่งเศสและประเทศไทยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะการพัฒนาอาจารย์และนักวิจัย โดยผ่านโครงการความร่วมมือต่าง ๆ และการถ่ายทอดความรู้จากฝรั่งเศส โดยมีส่วนสำคัญในการจัดประชุมวิชาการและพัฒนาเครือข่ายนักวิจัยที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังเป็นบุคคลที่มีบทบาทในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ โดยการเป็นกรรมการพิจารณาคัดเลือกนักเรียนทุนภายใต้โครงการทุนการศึกษาระดับปริญญาโท – เอก และทุนพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ของสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย รวมทั้งยังเป็นผู้ริเริ่มสร้างความร่วมมือด้านพลังงานชีวภาพระหว่าง มจธ. กับศูนย์วิจัยเกษตรกรรมเพื่อการพัฒนา (CIRAD) ของฝรั่งเศส
โอกาสนี้ รศ. ดร. บัณฑิตฯ กล่าวถึงเรื่องการได้รับการประกาศเชิดชูเกียรติจากรัฐบาลฝรั่งเศสครั้งนี้ว่า ถือเป็นเกียรติอย่างสูง เพราะเป็นเครื่องอิสริยาภรณ์ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดของฝรั่งเศส ที่มอบให้กับบุคคลที่อุทิศตนและทำคุณประโยชน์ให้กับวงการการศึกษา มีความรู้สึกดีใจและภาคภูมิใจที่มีผู้เห็นคุณค่า และให้ความสำคัญกับการวิจัยด้านพลังงานและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ได้ดำเนินการมาตลอดระยะเวลานานกว่า 30 ปี โดยเฉพาะกับงานวิจัยเชิงนโยบายด้านพลังงาน ซึ่งทำร่วมกับคณะทำงาน มจธ. ที่กระทรวงพลังงานนำไปกำหนดเป็นแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปีของประเทศ ทำให้เป็นที่ยอมรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับประเทศและระดับสากล โดยในระดับประเทศ ได้รับความไว้วางใจให้เป็นอนุกรรมการด้านการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของกระทรวงพลังงาน เป็นกรรมการบริหารคลัสเตอร์ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ เป็นคณะทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) และล่าสุด ได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน และของคณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปกิจการไฟฟ้า พลังงานทดแทน และการอนุรักษ์พลังงานอีกด้วย
ในระดับสากล เคยได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในคณะผู้เขียนรายงานสถานการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก ฉบับที่ 5 ในบทที่ว่าด้วยระบบพลังงานของ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีหน้าที่ในการประเมินผลกระทบในด้านต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก รวมถึงนำเสนอทางเลือกเพื่อการบรรเทา และการปรับตัวรับกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ รศ. ดร. บัณฑิตฯ เป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์จำนวนประมาณ 830 คน ที่ IPCC เชิญมาจากทั่วโลก เพื่อจัดทำรายงานสถานการณ์และแนวโน้มในอนาคตเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งถือเป็นรายงานวิชาการที่เป็นมาตรฐานเป็นที่ยอมรับสำหรับการใช้อ้างอิงได้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะบทสรุปสำหรับผู้ตัดสินใจเชิงนโยบาย โดยเฉพาะผู้บริหารประเทศ และที่สำคัญคือเป็นเอกสารสำคัญที่ใช้เป็นพื้นฐานสำหรับการเจรจาระหว่างผู้นำประเทศทั่วโลก เพื่อกำหนดมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
อนึ่ง เครื่องอิสริยาภรณ์ดังกล่าว หรือที่เขียนเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า "l'Order des Palms academiques" กำหนดขึ้นครั้งแรกโดยจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 เมื่อปี ค.ศ. 1808 เพื่อเชิดชูเกียรติบุคลากรของมหาวิทยาลัยที่มีผลงานโดดเด่น และต่อมาได้มีการเชิดชูเกียรติบุคคลทั่วไปทั้งชาวฝรั่งเศสและชาวต่างชาติที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่วงการการศึกษาและวัฒนธรรมของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 เป็นต้นมา มีคนไทยที่ได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์จากรัฐบาลฝรั่งเศสแล้วกว่า 20 คน อิสริยาภรณ์ Order of the Academic Palms ประกอบด้วย 3 ชั้น ชั้นแรกคือ Chevalier หรือ Knight ชั้นกลางคือ Officier (ซึ่งเป็นชั้นที่ รศ. ดร. บัณฑิตฯ ได้รับ) และชั้นสูงสุดคือ Commandeur