กรุงเทพฯ--17 มี.ค.--สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
จากกรณีที่เหล่าโหราจารย์ชื่อดังของไทยต่างออกมาทำนายทายทักว่าวันที่ 6 มีนาคม ปีนี้ เป็นวันที่ดาวมฤตยูเคลื่อนจากราศีมีนเข้าราศีเมษ หรือดวงเมือง จะส่งผลให้บ้านเมืองรวมไปถึงดวงชะตาชีวิตเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "ความเชื่อเรื่องดาวมฤตยูย้ายทับดวงเมือง" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 7 – 8 มีนาคม 2559 จากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความเชื่อเรื่องดาวมฤตยูย้ายทับดวงเมือง การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" ด้วยความน่าจะเป็นแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งภูมิภาคออกเป็น 5 ภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภาคสุ่มตัวอย่างแบบมีระบบ (Systematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่า ความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4
จากผลการสำรวจเมื่อถามถึงความเชื่อของประชาชนต่อกรณีที่มีโหรดังระบุว่าในวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา ดาวมฤตยูจะย้ายทับราศีเมษ ซึ่งเป็นดวงเมือง และส่งผลให้ทุกราศีได้รับผลกระทบอย่างหนัก พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 45.04 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย รองลงมา ร้อยละ 24.40 ระบุว่า เชื่อครึ่ง ไม่เชื่อครึ่ง ร้อยละ 15.44 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ ร้อยละ 7.76 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ ร้อยละ 2.80 ระบุว่า เชื่อมาก และร้อยละ 4.56 ไม่ทราบ/ไม่สนใจ ซึ่งในจำนวนผู้ที่ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ – เชื่อมากนั้น ให้เหตุผลว่า โดยส่วนตัวเป็นคนที่เชื่อในเรื่องแบบนี้อยู่แล้ว ประกอบกับการติดตามข่าว สถานการณ์บ้านเมือง และเคยมีประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริงกับตัวเอง ซึ่งในทางโหราศาสตร์นั้น มีการคำนวณและใช้หลักของวิทยาศาสตร์เข้ามาอ้างอิงด้วย เคยทราบมาว่าเป็นความเชื่อที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณว่าจะมีการย้ายของดวงดาวมาบรรจบครบ 1 รอบ ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวจะได้เป็นเครื่องมือและแนวทางคอยเตือนสติให้ระมัดระวังในการใช้ชีวิตตนเอง ส่วนในจำนวนผู้ที่ระบุว่าไม่ค่อยเชื่อ – ไม่เชื่อเรื่องนี้เลยนั้น ให้เหตุผลว่า เป็นการคาดเดา ไม่เคยเชื่อในเรื่องของการทำนายหรือโหราศาสตร์ บางครั้งก็ทำนายผิดพลาดบ่อย เป็นแค่กระแสข่าวลือ งมงาย ไม่มีอยู่ในหลักของพระพุทธศาสนา ดวงดาวไม่ได้มีอิทธิพลต่อชีวิตคนเราขนาดนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกิดจากธรรมชาติ และขึ้นอยู่กับการกระทำของคนเราเองมากกว่า เชื่อในเรื่องของการทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว และทุกวันนี้ชีวิตยังเหมือนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง และในจำนวนผู้ที่เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งนั้น ให้เหตุผลว่า เป็นความเชื่อที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ คาดว่าน่าจะส่งผลกระทบอยู่บ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งอดีตเคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้มาแล้ว แต่ขณะนี้เป็นแค่การคาดเดาในเรื่องอนาคตที่ยัง ไม่แน่นอน และยังไม่ได้ประสบด้วยตนเอง เลือกเชื่อในสิ่งที่ดี ส่วนที่ไม่ดีก็ฟังไว้เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ ควรฟังหูไว้หู
ส่วนการแก้เคล็ดของประชาชนที่มีความเชื่อเรื่องดาวมฤตยูย้ายทับดวงเมือง ในระดับมากหรือค่อนข้างเชื่อหรือเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง
พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 53.67 ระบุว่า ไม่ได้ทำอะไรเลย รองลงมา ร้อยละ 18.81 ระบุว่า ถวายเครื่องสังฆทาน ร้อยละ 17.43 ระบุว่า เข้าวัดเพื่อร่วมพิธีสวดมนต์ต้อนรับดาวมฤตยูที่ย้ายทับดวงเมือง ร้อยละ 5.73 ระบุว่า ทำบุญโลงศพ ร้อยละ 2.52 ระบุว่า ทำทานไถ่ชีวิตสัตว์ ร้อยละ 1.15 ระบุว่า ไหว้ศาลหลักเมือง ร้อยละ 1.61 ระบุว่า ไหว้พระราหูด้วยของดำ และร้อยละ 11.01 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ หมั่นทำความดี ถือศีลเข้าไว้ ทำบุญตักบาตรตามปกติ ทำจิตใจให้สงบ นั่งสมาธิแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร ซื้อกระเบื้องถวายวัด เคาะกระเป๋าเงิน ตัดเล็บตัดผมลอยน้ำ และดูตามสถานการณ์หรือคอยทำตามที่โหรบอกหรือแนะนำ
ท้ายที่สุดเมื่อถามประชาชนเกี่ยวกับในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาว่าได้มีการตรวจดวงชะตา พบหมอดู หรือซินแสหรือไม่ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 66.36 ระบุว่า ไม่ได้มีการตรวจดวงชะตา พบหมอดู หรือซินแสเลย รองลงมา ร้อยละ 16.70 ระบุว่า พบหมอดูเพื่อตรวจดวงชะตา ร้อยละ 8.24 ระบุว่า เสี่ยงเซียมซี ร้อยละ 7.09 ระบุว่า ตรวจดวงชะตาผ่านสื่อออนไลน์ด้วยตนเอง ร้อยละ 0.92 ระบุว่า ตรวจดวงชะตากับหมอดูหรือซินแสผ่านสื่อออนไลน์ ร้อยละ 0.69 ระบุว่า พบซินแสเพื่อดูฮวงจุ้ย ร้อยละ 0.46 ระบุว่า พบซินแสเพื่อดูโหงวเฮ้ง ร้อยละ 2.29 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ตรวจดูดวงชะตาด้วยตนเองตามหนังสือพิมพ์/นิตยสาร/พระ และผ่านทางข้อความ และร้อยละ 1.60 ไม่ทราบ/ไม่สนใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.72 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.44 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.16 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.60 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 14.08 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่าง ร้อยละ 52.24 เป็นเพศชาย ร้อยละ 47.44 เป็นเพศหญิง และร้อยละ 0.32 ระบุว่าเป็นเพศทางเลือก ตัวอย่าง ร้อยละ 6.64 มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ร้อยละ 17.60 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 23.52 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 31.28 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 18.32 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 2.64 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่าง ร้อยละ 92.56 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.60 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 1.20 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ และร้อยละ 2.64 ไม่ระบุศาสนา
ตัวอย่าง ร้อยละ 21.60 สถานภาพโสด ตัวอย่างร้อยละ 72.72 สมรสแล้ว ตัวอย่างร้อยละ 2.80 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 2.88 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 27.92 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 30.08 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.52 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 23.20 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.68 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 3.60 ไม่ระบุการศึกษา ตัวอย่างร้อยละ 13.52 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 11.76 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 21.84 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 15.04 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 14.32 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 16.24 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 3.28 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 0.08 เป็นพนักงานองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร และร้อยละ 3.92 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่าง ร้อยละ 16.24 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 17.52 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 29.44 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 11.92 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 5.04 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 7.44 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 12.40 ไม่ระบุรายได้