กรุงเทพฯ--17 มี.ค.--คอร์แอนด์พีค
จากพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตอนหนึ่งว่า "การใช้จ่ายอย่างประหยัดนั้น จะเป็นหลักประกันความสมบูรณ์พูนสุขของผู้ประหยัดเอง และครอบครัวช่วยป้องกันความขาดแคลนในวันข้างหน้า การประหยัดดังกล่าวนี้จะมีผลดีไม่เฉพาะแก่ผู้ที่ประหยัดเท่านั้น ยังเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย"
สำหรับครูเอมอร ไมตรีจิตร์ วัย 52 ปี ครูบัญชีอาสาแห่งกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันทำงานในตำแหน่งหัวหน้าสาขาวิชาการบัญชี และรองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ เป็นครูอีกท่านหนึ่ง ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคม โดยเข้ามาเป็นครูบัญชีอาสาของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ตั้งแต่ปี 2552 โดยได้เห็นถึงประโยชน์ของการจัดทำบัญชีครัวเรือน บัญชีต้นทุนอาชีพ และเกิดแนวคิดที่ว่า หากได้นำความรู้เผยแพร่ไปสู่เยาวชนของชาติ จะสามารถทำคุณประโยชน์ต่อประเทศอย่างไม่รู้จบ จึงได้นำบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนอาชีพ มาเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรบัญชีภาคธุรกิจของมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ ซึ่งนักศึกษาทุกคนที่เข้าศึกษาบัญชีภาคธุรกิจจะต้องเรียนรู้และจัดทำบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนอาชีพ จนนักศึกษาหลายคนนำข้อมูลไปวิเคราะห์และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายของตนเอง คิดทุกครั้งก่อนที่จะใช้จ่าย
ครูเอมอรเล่าว่า "มีนักศึกษาคนหนึ่ง พักอาศัยอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี เดินทางไป-กลับมาเรียนทุกวัน ซึ่งหลังจากได้จดบันทึกบัญชีและนำข้อมูลการจดบันทุกบัญชีการจ่ายค่าเดินทางไป-กลับ ระหว่างมหาวิทยาลัยกับบ้านพักที่จังหวัดกาญจนบุรี เปรียบเทียบกับการพักหอพักข้างมหาวิทยาลัย ปรากฏว่าหากพักหอพักข้างมหาวิทยาลัย จะมีเงินเหลือออมมากกว่า อีกทั้งไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทาง มีเวลาเป็นส่วนตัวและได้ทบทวนบทเรียนมากขึ้น จึงมีผลการเรียนที่ดีขึ้น จะเห็นได้ว่าการจัดทำบัญชีมีประโยชน์หากมีการจดบันทึกและนำข้อมูลไปวิเคราะห์"
จากจุดเริ่มต้นจากการเป็นครูสอนบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนอาชีพและนำไปสู่ก้าวแรกของการเป็นครูบัญชีอาสาที่ขึ้นกับกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ โดยเริ่มจากความเชี่ยวชาญที่ตนเองมีอยู่นำไปถ่ายทอดวิธีการจัดทำบัญชีครัวเรือนมาถ่ายทอดให้ประชาชนในชุมชน โดยสอนให้มีการจดบันทึกบัญชีแล้ววิเคราะห์รายรับ-รายจ่าย ให้เกิดการสมดุล หากมีรายจ่ายมากเกินไปควรทำอย่างไร ซึ่งมีวิธีปฏิบัติอยู่ 3 วิธี คือ 1.เพิ่มรายรับ 2.ลดรายจ่าย 3.เพิ่มรายรับและลดรายจ่าย ทั้งนี้วินัยทางการเงินแต่ละครอบครัวนั้นไม่เหมือนกัน โดยจะสอนให้บันทึกบัญชี วิเคราะห์เหตุการณ์ทางการเงินที่เกิดขึ้นและชี้แนะวิธีการแก้ไข จนไม่มีหนี้สิน การติดตามประชาชนในชุมชนที่ได้จัดการอบรมแล้วประชาชนบางครอบครัวที่ตระหนักถึงวินัยทางการเงิน สามารถ ลด ละ เลิก ค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น มีเงินออมจนสามารถซื้ออุปกรณ์อำนวยความสะดวกให้ตนเองได้ เช่น หม้อหุงข้าว เครื่องซักผ้า พัดลม ฯลฯ
ซึ่งหลังจากที่ได้เรียนรู้การจัดทำบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนอาชีพ โดยนำข้อมูลจากการจดบันทึกบัญชีครัวเรือนไปวิเคราะห์ถึงรายรับ รายจ่ายของตนเอง ทำให้สามารถวางแผนการใช้จ่ายได้อย่างระมัดระวังรอบคอบ และสามารถลด ละ เลิกรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลงได้ และเกิดเงินออมตามมาอย่างต่อเนื่อง
ครูเอมอร เล่าว่า การสอนการทำบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนอาชีพ นั้นได้นำนักศึกษามาช่วยเผยแพร่การจัดทำบัญชีครัวเรือน และบัญชีต้นทุนอาชีพสู่ชุมชนใกล้เคียงด้วย จนชุมชนสามารถจัดทำบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนอาชีพได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถรู้รายได้ รู้ต้นทุน รู้กำไร ของอาชีพที่ทำอยู่ ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจของครูเอมอร จากการได้เผยแพร่องค์ความรู้นี้ ที่ไม่เพียงแต่ฝึกให้จัดทำบัญชีอย่างต่อเนื่องจนเป็นนิสัยแล้ว ยังได้รับความสุขทางใจจากการเห็นคนที่ได้รับการสอนแนะ หมดหนี้สินและมีเงินออมมากขึ้น อีกทั้งยังได้ปลูกฝังให้เยาวชนของชาติ ใช้เวลาว่างทำประโยชน์แก่สังคมได้อย่างน่าภูมิใจ โดยเฉพาะหากพบเจอบุคคลใดสนใจที่พร้อมรับฟังก็จะเข้าไปชี้แนะให้รู้ เช่น การสอนพระ สอนเณร ให้รู้จักทำการบัญชีครัวเรือน โดยสอนพระที่จำพรรษาและเณรที่มาบรรพชาภาคฤดูร้อนให้รู้จักการบริหารรายรับ-รายจ่าย รายจ่ายใดจำเป็น ไม่จำเป็น สำหรับเณรสามารถแยกแยะได้ว่ารายจ่ายใดควรจ่าย รายจ่ายใดไม่ควรจ่าย ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นความคิดที่ดีของเยาวชนไทย บุคคลใดที่คิดว่าควรให้ความรู้ก็จะไปให้ความรู้ เช่น สอนแม่บ้าน นักการภารโรง ในมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ ให้คิดเป็น สามารถบริหารเงินให้มีรายจ่ายเพียงพอกับรายรับ จะได้ไม่มีหนี้สิน
ความสำเร็จของครูเอมอร ได้รับการชื่นชมจากหลาย ๆ หน่วยงาน ทั้งจากหนังสือขอบคุณจากผู้ใหญ่บ้านและนายกองค์การบริหารส่วนตำบลงิ้วราย อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม และหนังสือรับรองการใช้ประโยชน์จากเจ้าอาวาสวัดบางขันแตก อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม นี่คือจุดเล็ก ๆ อีกหนึ่งบทบาทของการทำหน้าที่ของครู…ที่ออกมาทำหน้าที่เป็นผู้ให้…ให้กับสังคม ซึ่งหากประชาชนในสังคม รู้จักการบริหารรายรับ-รายจ่ายให้เกิดเงินออมทีละเล็กทีละน้อย เพื่อที่จะได้สร้างความมั่นคงทางการเงินให้เกิดขึ้นในอนาคตนั้นเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง และยิ่งเมื่อมีผู้ชี้นำในการบริหารเงินด้านบัญชีครัวเรือนมาถ่ายทอดให้กับทุกคน ทุกอาชีพ ให้มีความรู้เพิ่มขึ้นและช่วยเป็นแรงกระตุ้นให้รู้จักออม รู้จักคิด ทุกอย่างก็จะประสบความสำเร็จได้สมปรารถนาและทำให้สภาพความเป็นอยู่ของครอบครัวดียิ่งขึ้นตลอดไป