กรุงเทพฯ--17 มี.ค.--หอการค้าไทย
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทย ได้มีการหารือกัน เพื่อกำหนดแนวทางการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness)โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตของประเทศ ซึ่งข้อมูลจากสถาบัน IMD ปัจจุบันผลิตภาพการผลิตของไทยอยู่ที่ 25,508 ดอลล่าร์สหรัฐ/คน/ปี ยังคงต่ำกว่าหลายประเทศ อาทิ มาเลเซียที่มีผลิตภาพการผลิต54,150 ดอลล่าร์สหรัฐ/คน/ปี สูงกว่าแรงงานประเทศไทยถึง 2 เท่า โดยเฉพาะในภาคเกษตร ผลิตภาพการผลิตของประเทศมาเลเซีย สูงกว่าประเทศไทยถึง 5 เท่า ขณะที่ผลิตภาพภาคการผลิตและภาคบริการ สูงกว่าไทยเกือบ 2 เท่า
หอการค้าไทยได้ให้ความสำคัญกับ 5 กระบวนงานในการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ (Ease of Doing Business) ได้แก่ 1. การจัดตั้งธุรกิจ 2. การขออนุญาตก่อสร้าง 3. การชำระภาษี 4. การนำเข้า-ส่งออกและ 5. VISA & Work Permit พร้อมทั้ง สนับสนุนให้ผู้ประกอบการปรับปรุงประสิทธิภาพในทุกกระบวนการของธุรกิจ ตั้งแต่ต้นทางการจัดการวัตถุดิบ กลางทาง กระบวนการผลิตและโลจิสติกส์ รวมทั้งการบรรจุหีบห่อ การขนส่งการบริหารสินค้าคงคลัง เป็นต้น และปลายทาง การพัฒนาด้านการตลาด ทั้งนี้ เพื่อลดต้นทุนโดยรวมของธุรกิจ (Overall Cost) ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาคการผลิต สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนได้ด้วยการเพิ่มกำลังการผลิต
อย่างเต็มประสิทธิภาพของเครื่องจักร ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม พบว่า อัตราการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมไทยในปัจจุบัน เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 64.7% เท่านั้น ซึ่งหากภาคธุรกิจสามารถเดินเครื่องทำการผลิตได้เพิ่มขึ้นเป็น 80-100% ก็จะสามารถยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของประเทศ และช่วยขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นได้
"หอการค้าไทยสนับสนุนนโยบายการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งในด้านการปฏิรูปการศึกษา การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา การกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจอนาคต และการพัฒนาคลัสเตอร์ของอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยให้แรงจูงใจให้เกิดการลงทุนในกิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง" นายอิสระ กล่าว
นายอิสระ กล่าวว่า การที่จะดึงดูดให้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เป็นอนาคตของประเทศ (New S-Curve) ได้นั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องมีความพร้อมทางด้านแรงงานทักษะฝีมือสูง นอกเหนือจากระบบโครงสร้างพื้นฐานซึ่งในปัจจุบัน ประเทศไทยมีแรงงานทักษะสูงประมาณ 5% เท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอ จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องปรับปรุงนโยบายการอำนวยความสะดวก ให้แรงงานต่างประเทศทักษะสูง บุคลากรผู้ชำนาญการนักวิจัยจากต่างประเทศ (Talent Mobility) โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะสูง (Young Talent) เข้ามาทำงานนำทักษะองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาถ่ายทอด และร่วมกันสร้างสรรค์การพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นอนาคตของประเทศไทย
หอการค้าไทยจึงได้ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ทำการศึกษาและจัดทำข้อเสนอนโยบายการอำนวยความสะดวกให้แรงงานต่างประเทศทักษะสูง สามารถทำงานและสร้างประโยชน์ให้ประเทศไทย โดยได้นำเสนอต่อที่ประชุม กกร.แล้ว
สำหรับในเรื่องดังกล่าว มีกลไกภาครัฐและกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ ซึ่งต้องมีการศึกษาและปรับปรุงให้สอดคล้องกับความจำเป็นที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ดังนั้น หอการค้าไทยจะเสนอต่อที่ประชุม กรอ.ส่วนกลาง ให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อศึกษาเรื่อง Talent Mobility
อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานดังกล่าวข้างต้น จะสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นอนาคตได้รวดเร็วขึ้น เนื่องด้วยการปรับโครงสร้างการผลิตของประเทศ จะเป็นกลไกใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย และเพิ่มรายได้ประชาชาติต่อหัว (GNI per Capita) ให้สูงขึ้นเพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูง ตามเป้าหมายในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ต่อไป