SET9: ตลท. แถลงผลการประชุมคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ ประจำเดือน กุมภาพันธ์ 2543

ข่าวทั่วไป Thursday February 17, 2000 16:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--17 ก.พ.--ตลท.
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แถลงผลการประชุมคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2543 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการให้รับหลักทรัพย์ที่ผ่านการเสนอขายแบบเฉพาะเจาะจงแก่ผู้ลงทุนสถาบันให้เข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ โดยมีระบบการซื้อขายและระบบการเผยแพร่ข้อมูลแยกเป็นการเฉพาะ เพื่อเสริมสภาพคล่องแก่หลักทรัพย์ดังกล่าวและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ลงทุนสถาบัน และ เห็นชอบให้ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การรับหลักทรัพย์จดทะเบียนของตลาดหลักทรัพย์ใหม่ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน และ หลักเกณฑ์การรับหลักทรัพย์ของตลาดหลักทรัพย์ เพื่อสนับสนุนให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีศักยภาพเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ใหม่ได้มากขึ้น
นายวิชรัตน์ วิจิตรวาทการ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2543 มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1) เห็นชอบให้รับหลักทรัพย์ที่ผ่านการเสนอขายแบบเฉพาะเจาะจงแก่ผู้ลงทุนสถาบันเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ โดยมีระบบซื้อขายและระบบเผยแพร่ข้อมูลแยกเฉพาะ
ตามที่รัฐบาลได้มีมาตรการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาระบบสถาบันการเงิน และการปรับโครงสร้างหนี้ภาคเอกชน โดยอนุญาตให้ภาคเอกชนออกหลักทรัพย์ประเภทตราสารหนี้ และตราสารหนี้กึ่งทุนในรูปแบบกองทุนรวมเพื่อเสนอขายแบบเฉพาะเจาะจง (Private Placement:PP) แก่ผู้ลงทุนสถาบันที่มีลักษณะเฉพาะ 17 ประเภทตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการก.ล.ต. ประกอบกับในปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียน จำนวนมากที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการหรืออยู่ในกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ ได้แสดงความประสงค์ที่จะระดมทุนด้วยการออกตราสารหนี้เพื่อเสนอขายแบบเฉพาะเจาะจงนั้นเพื่อสนับสนุนให้มีตลาดรองที่มีประสิทธิภาพและเสริมสร้างสภาพคล่องแก่หลักทรัพย์ที่เสนอขายแบบเฉพาะเจาะจงดังกล่าว อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทจดทะเบียน และเพิ่มทางเลือกการลงทุนแก่ผู้ลงทุนสถาบัน คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบในหลักการให้รับหลักทรัพย์ที่เสนอขายแบบเฉพาะเจาะจง (Private Placement : PP) แก่ผู้ลงทุนสถาบัน 17 ประเภทเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้โดยให้มีหลักเกณฑ์การซื้อขายและระบบเผยแพร่ข้อมูลแยกเป็นการเฉพาะ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องเห็นความแตกต่างชัดเจน กล่าวคือ ผู้ลงทุนสถาบันที่สนใจได้ทราบหลักเกณฑ์เฉพาะสำหรับการซื้อขายหลักทรัพย์ดังกล่าว สมาชิกมีความระมัดระวังให้การซื้อขายหลักทรัพย์แบบเฉพาะเจาะจงเกิดขึ้นในกลุ่มผู้ลงทุนสถาบัน 17 ประเภท และตลาดหลักทรัพย์มีแนวทางในการตรวจสอบการซื้อขายได้
หลักเกณฑ์วิธีการซื้อขายและระบบเผยแพร่ข้อมูลของหลักทรัพย์ที่เสนอขายแบบเฉพาะเจาะจงมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
ก) ผู้ซื้อขายหลักทรัพย์ที่เสนอขายแบบเฉพาะเจาะจงจะต้องเป็นผู้ลงทุนสถาบันที่มีลักษณะเฉพาะ 17 ประเภทตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. เท่านั้น
ข) วิธีซื้อขายหลักทรัพย์ที่เสนอขายแบบเฉพาะเจาะจงสามารถทำได้ 2 วิธีคือ
* วิธี Automatic Ordering Matching (AOM) โดยผู้ลงทุนสถาบันประเภทที่ 1-16 สามารถซื้อขายได้โดยไม่มีมูลค่าการซื้อขายขั้นต่ำ ส่วนผู้ลงทุนสถาบันประเภทที่ 17 กำหนดให้ต้องซื้อในมูลค่าไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ทั้งนี้บริษัทสมาชิกจะต้องจัดให้มีระบบ ตรวจสอบคำสั่งซื้อขายที่มีมูลค่าตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป และต้องระบุเงื่อนไข FOK (Fill-or-Kill) กำกับในคำสั่งที่ส่งเข้ามาในระบบซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ทุกครั้ง ทั้งนี้เพื่อ ให้ระบบสามารถยกเลิกคำสั่งได้หากซื้อขายไม่ครบตามจำนวนที่ต้องการ
* วิธี Put Through (PT) กำหนดให้ผู้ลงทุนสถาบันประเภทที่ 1-16 ต้องซื้อขายตั้งแต่ 1 ล้านหุ้นหรือในมูลค่าตั้งแต่ 3 ล้านบาทขึ้นไป ส่วนผู้ลงทุนสถาบันประเภทที่ 17 ต้องซื้อในมูลค่าตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป
ค) ตลาดหลักทรัพย์จะจัดให้มีระบบเผยแพร่ข้อมูลการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ผ่านการเสนอขายแบบ เฉพาะเจาะจงแยกเป็นการเฉพาะ ทั้งในระบบ PRS และ ระบบ R-SIMS เพื่อให้ผู้ลงทุน สถาบันเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน
ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์จะแก้ไขข้อบังคับต่างๆ และพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จภายในไตรมาส 2/2543 เพื่อรองรับการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ผ่านการเสนอขายแบบเฉพาะเจาะจง
2) เห็นชอบให้ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การรับหลักทรัพย์ของตลาดหลักทรัพย์ใหม่หลังจากที่ตลาดหลักทรัพย์ใหม่เปิดทำการเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2542 เป็นต้นมา ตลาดหลักทรัพย์ใหม่ได้ดำเนินงานการตลาดเชิงรุกด้วยการเข้าพบผู้ประกอบการที่แสดงความสนใจนำหลักทรัพย์เข้าจดทะเบียน จากการรวบรวมข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการบริษัทดังกล่าว พบว่าหลักเกณฑ์การรับหลักทรัพย์ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2542 จำเป็นต้องปรับปรุงให้มีลักษณะผ่อนปรนมากขึ้นเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมที่มีศักยภาพสามารถเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ใหม่มากขึ้น สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และหลักเกณฑ์การรับหลักทรัพย์ของตลาดหลักทรัพย์ฉบับใหม่ที่มีลักษณะผ่อนปรนมากขึ้น
คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบในหลักการให้ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การรับหลักทรัพย์จดทะเบียนของตลาดหลักทรัพย์ใหม่ มีสาระสำคัญดังนี้
ก) ยกเลิกเกณฑ์เรื่องหุ้นออกใหม่ที่เสนอขายต่อประชาชน จากเดิมที่เคยกำหนดว่าหุ้นออกใหม่ที่ เสนอขายต่อประชาชนจะต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของหุ้นทั้งหมดที่เสนอขาย
ข) ยกเลิกเกณฑ์เรื่องผู้ถือหุ้น ผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้น และกลุ่มของผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจควบคุมหรือ มีอิทธิพลในการบริหารงานรายใดรายหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จากเดิมที่เคยกำหนดให้ถือหุ้น รวมกันได้ไม่เกินร้อยละ 70 ของทุนชำระแล้ว
ค) ผ่อนปรนเกณฑ์เรื่องการดำเนินงานของบริษัทภายใต้การจัดการของผู้บริหารส่วนใหญ่ชุดเดียว กันเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปีก่อนยื่นคำขอ อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงต้องมีผลการดำเนิน งานต่อเนื่องเป็น Track Record ไม่น้อยกว่า 2 ปีก่อนยื่นคำขอ
ง) ผ่อนปรนเกณฑ์เรื่องฐานะการเงิน จากเดิมที่เคยกำหนดไว้ให้ส่วนของผู้ถือหุ้นต้องไม่ต่ำกว่า ทุนชำระแล้ว แก้ไขใหม่เป็น ให้มีส่วนของผู้ถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 40 ล้าน
จ) แก้ไขเกณฑ์เรื่องการตรวจสอบและการควบคุมภายในให้สอดคล้องกับมาตรฐานเรื่องการควบคุม ภายใน และระบบการจัดเก็บเอกสารตามที่สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนดในเรื่องระบบ การบริหารงานของบริษัทและบริษัทย่อย การจัดทำงบการเงินและงบการเงินรวมที่ได้มาตรฐาน ถูกต้องครบถ้วน น่าเชื่อถือ การจัดเก็บเอกสารสำคัญของบริษัทและบริษัทย่อยและการจัดให้ คณะกรรมการตรวจสอบหรือกรรมการอิสระแสดงความคิดเห็นต่อการปฎิบัติงานของบริษัทใน เรื่องระบบการบริหารงานและระบบการจัดเก็บเอกสารอย่างสม่ำเสมอ
ฉ) แก้ไขเกณฑ์เรื่อง Silent Period ที่เคยกำหนดให้ผู้บริหาร และผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจควบคุมหรือมีอิทธิพลในการบริหารงาน ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องกับผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นดังกล่าว ซึ่งถือหุ้น สามัญรวมกันเป็นจำนวนร้อยละ 35 ของทุนชำระแล้ว จากเดิมต้องนำหุ้นเข้าฝากเป็นเวลา 1 ปี แก้ไขใหม่ เป็นต้องนำหุ้นเข้าฝากเป็นระยะเวลา 6 เดือนถึง 1 ปี
ช) ผ่อนปรนเกณฑ์เรื่องที่ปรึกษาทางการเงิน โดยกำหนดให้บริษัทต้องมีที่ปรึกษาทางการเงินที่ ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ดูแลบริษัทอย่างต่อเนื่องจากเดิม เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปีแต่ไม่เกิน 3 ปี แก้ไขใหม่ เป็นระยะเวลาอีก 1 ปี นับจากวันที่ หุ้นเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ใหม่แล้ว
ทั้งนี้ตลาดหลักทรัพย์ใหม่จะได้นำหลักเกณฑ์การรับหลักทรัพย์จดทะเบียนที่ได้รับการแก้ไขนี้เสนอต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เพื่อขออนุมัติก่อนประกาศใช้ต่อไป
ผู้ลงทุนสถาบัน 17 ประเภทตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.
1) ธนาคารพาณิชย์2) บริษัทเงินทุน3) บริษัทหลักทรัพย์เพื่อเป็นทรัพย์สินของตนเอง หรือเพื่อการบริหารกองทุนส่วนบุคคลหรือเพื่อ
การจัดการโครงการจัดการลงทุนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน
ธุรกิจหลักทรัพย์ และ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์4) บริษัทเครดิตฟองซิเอร์5) บริษัทประกันภัย6) นิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น ซึ่งมิได้เป็นนิติบุคคลตามส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจตาม
กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ7) ธนาคารแห่งประเทศไทย8) สถาบันการเงินระหว่างประเทศ9) ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจตามกฏหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ10) กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน11) กองทุนบำเหน็จบำนาญ12) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ13) กองทุนรวม14) นิติบุคคลที่มีสินทรัยพ์รวมตามงบการเงินที่ผู้สอบบัญชีตรวจสอบแล้วสำหรับระยะเวลาล่าสุด
ตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป15) นิติบุคคลซึ่งมีผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลตามข้อ 1-14 ถือหุ้นรวมกันเกินกว่าร้อยละ 75 ของจำนวนหุ้น
ที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด16) ผู้ลงทุนซึ่งไม่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย และนำเงินลงทุนมาจากต่างประเทศ โดยมีผู้ดูแล
หรือจัดการลงทุนให้17) ผู้ลงทุนที่มิใช่ผู้ลงทุนตามข้อ 1-16 ซึ่งซื้อหลักทรัพย์ตามที่ผู้เสนอขายหลักทรัพย์ได้เสนอขาย
หลักทรัพย์นั้นในมูลค่าตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ทั้งนี้การคำนวณมูลค่าของหลักทรัพย์ดังกล่าว
ให้ถือเอาราคาเสนอขายเป็นเกณฑ์
--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ