กรุงเทพฯ--17 มี.ค.--อิปซอสส์ (ประเทศไทย)
ตามที่ นายมาร์คัส เฌอเฮอร์ หัวหน้าทีมที่ปรึกษาธุรกิจยานยนต์ บริษัทอิปซอสส์ บิสสิเนส คอนซัลติ้ง ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า สัญญาณทางเศรฐกิจในขณะนี้กำลังบ่งชี้ว่าอินโดนีเซียกำลังจะก้าวแซงประเทศไทย และกลายมาเป็นผู้นำการผลิตยานยนต์ในภูมิภาคอาซียน การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะมีอิทธิพลมากต่อการตัดสินใจในการวางกลยุทธ์ของผู้ผลิตและจัดจำหน่ายยานยนต์ และผู้วางแผนนโยบายในทั้งสองประเทศ เนื่องจากปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์อินโดนีเซียเติบโตอย่างต่อเนื่องตามการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ นับเป็นช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยต้องตื่นตัวและปรับตัวครั้งสำคัญ
"แนวโน้มการผลิตยานยนต์ การแก้ไขและออกนโยบายสนับสนุน รวมไปถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประเทศของรัฐบาลอินโดนีเซียกำลังเป็นตัวบ่งชี้ว่าอินโดนีเซียกำลังมุ่งสู่การพัฒนาขีดความสามารถในการกระตุ้นการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ และการส่งเสริมการส่งออก ผู้ผลิตยานยนต์และผู้วางแผนนโยบายในทั้งไทยและอินโดนีเซียจึงควรจับตามองการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างใกล้ชิด" นายมาร์คัส กล่าว
ประเทศไทยนั้นครองตำแหน่งผู้นำการผลิตยานยนต์ในภูมิภาคอาเซียนมานาน ปริมาณการผลิตประจำปี 2558 ของประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านหน่วยต่อปี ในขณะที่ปริมาณการผลิตของประเทศอินโดนีเซียอยู่ที่ 1.1 ล้านหน่วยต่อปี ถึงแม้ว่าอินโดนีเซียจะไล่ตามประเทศไทยมาติดๆในปริมาณการผลิตยานยนต์ และใหญ่เป็นอันดับสองในภูมิภาค อินโดนีเซียนั้นยังไม่สามารถที่จะพัฒนาตลาดการส่งออกยานยนต์ได้เทียบเท่ากับไทย โดยที่ปริมาณการส่งออกยานยนต์ของอินโดนีเซียอยู่ที่ 23% โดยเปรียบเทียบกับปริมาณการส่งออกของไทยที่ 55% ของยานยนต์ที่ผลิตในประเทศ
เพื่อที่จะจะแซงหน้าประเทศไทยขึ้นมาเป็นผู้ผลิตยานยนต์อันดับหนึ่งในภูมิภาคนั้น อินโดนีเซียจะต้องปิดช่องว่างทั้งด้านการผลิตและการส่งออกนี้เสียก่อน โดยเทียบจากอัตราช่องว่างการผลิตยานยนต์ของทั้งสองประเทศในปี 2558 อยู่ที่ประมาณ 810,000 หน่วย
แต่ในปี 2563 นั้น อัตราช่องว่างการผลิตยานยนต์ถูกคาดการว่าจะลดลงมาอยู่ที่ 465,000 หน่วยต่อปี บริษัทอิปซอสส์ บิสสิเนส คอนซัลติ้ง เชื่อว่า การลดลงของช่องว่างนี้จะสามารถทำได้โดยปัจจัยเหล่านี้:
การเพิ่มอัตราการผลิตของโรงงาน โดยที่อินโดนีเซียมีความสามารถการผลิตยานยนต์ได้ถึง 2 ล้านคันต่อปีในปี 2558 แต่กำลังการผลิตในประเทศขณะนี้นั้นอยู่ที่ 62% เท่านั้น
ถ้ากำลังการผลิตของอินโดนีเซียไม่มีการเปลี่ยนแปลง อินโดนีเซียจะต้องเพิ่มการลงทุนในอุตสาหกรรมมากถึง 2.6 ล้านดอลลาห์สหรัฐเพื่อสร้างโรงงานใหม่และพัฒนาโรงงานเดิมที่มีอยู่
รายงานล่าสุดของบริษัท อิปซอสส์ พบว่าแม้ว่าปัจจุบันอินโดนีเซียยังจะขาดความสามารถในด้านการส่งออก ทว่ายังมีศักยภาพภายในประเทศมากพอที่จะทำให้นักลงทุนมั่นใจในความสามารถในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังที่นายดักลาส แคสซิดี้ ตำแหน่งผู้จัดการประเทศอินโดนีซีย บริษัทอิปซอสส์ บิสสิเนส คอนซัลติ้ง กล่าวไว้ว่า "ผู้เล่นระดับโลกในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ยังไม่ได้ขยายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศอินโดนีเซียนั้นจะต้องถูกถามถึงความสามารถของบริษัทในการครอบครองส่วนแบ่งทางการตลาดยานยนต์ในภูมิภาคอาเซียนที่มีประชากรมากกว่า 600 ล้านคน และความสามารถในการรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดที่ครอบครองอยู่ในสภาวะที่บริษัทอี่นกำลังขยายเข้าสู่อินโดนีเซีย และประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชีย ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในอินโดนีเซียจะได้เปรียบทั้งในด้านราคา ขนาด และห่วงโซ่อุปทานของประเทศที่กำลังถูกเตรียมความพร้อมและพัฒนาเข้าสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ของภูมิภาคอาเซียน"
นายชูเกียรติ วงศ์ทวีรัตน์ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายที่ปรึกษาทางธุรกิจของบริษัทอิปซอสส์ บิสสิเนส คอนซัลติ้ง สำนักงานกรุงเทพฯ เห็นด้วยกับการวิเคราะห์สถานการณ์นี้ แต่มองว่าประเทศไทยนั้นยังมีโอกาสที่จะปกป้องอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ โดยการปรับยุทธศาสตร์ เพราะประเทศไทยมีความพร้อมและได้เปรียบในการส่งออกไปสู่ตลาดอาเซียน เพราะไทยมีความโดดเด่นด้านการส่งออกอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งได้เป็นแรงดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติในไทยขณะนี้ เนื่องจากไทยเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมยานยนต์ในอาเซียนปีที่แล้ว ไทยผลิตรถยนต์ประมาณ 2 ล้านคัน ถือเป็น 1 ใน 12 ประเทศผู้ผลิตรถยนต์หลักของโลก อุตสาหกรรมยานยนต์จึงเป็นแม่เหล็กสำคัญที่ดึงดูดเม็ดเงินจากต่างประเทศ โดยไทยมีข้อได้เปรียบหลายประการ อาทิ มีที่ตั้งอยู่ตรงกลางอาเซียน มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน เป็นศูนย์กลางเครือข่ายการคมนาคมขนส่ง มีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ดี มีแรงงานที่มีคุณภาพ ดังนั้น ไทยจึงเป็นประเทศที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมาเป็นเวลานานและในอนาคต หากอุตสาหกรรมยานยนต์ได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไทยก็อาจจะไต่อันดับไปติดอันดับ 1ใน 10 ของโลกก็เป็นได้ หากแต่ความลังเลเพียงเล็กน้อยในการวางกลยุทธ์หรือพัฒนาแผนธุรกิจให้ทันกับความต้องการและเศรษฐกิจโลกก็อาจนำมาสู่ช่วงเวลาที่ยากลำบากของธุรกิจยานยนต์ในไทยได้
นายชูเกียรติยังกล่าวอีกว่าบริษัทยักษ์ใหญ่หลายบริษัทได้ประกาศกลยุทธ์ที่จะถอนตัวออกจากตลาดอินโดนีเซีย โดยเฉพาะฟอร์ดมอร์เตอร์ และ เจนเนอรัลมอเตอร์ ในระหว่างที่บริษัทชั้นนำอื่นๆ เช่น โฟล์คสวาเกน ฮุนได และ มาสด้า ยังไม่ทำการเปิดเผยกลยุทธ์ที่แน่นอนในการรุกเข้าครอบครองส่วนแบ่งทางการตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
"อินโดนีเซียยังคงต้องการนโยบายที่มั่นคง และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะสนับสนุนยอดขายยานยนต์ที่ผลิตในประเทศ หากรัฐบาลอินโดนีเซียสามารถทำสิ่งที่กล่าวมานี้ได้สำเร็จ เราอาจได้เห็น 'ปรากฏการณ์โดมิโน่' ที่ส่งผลกระทบเชิงบวกกับอุตสาหกรรมยานยนต์ภายในประเทศเกิดขึ้น ในขณะที่บริษัทยานยนต์ชั้นนำอื่นๆกำลังมองหาที่ตั้งฐานการผลิตแห่งใหม่และกำลังมีนโยบายขยายตลาดเชิงรุกในส่วนของเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายของพวกเขา ดังนั้นโจทย์ใหญ่ของไทยในขณะนี้คือไทยจะสามารถคงเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ในอาเซียนในระยะยาวได้หรือไม่" นายชูเกียรติกล่าว
ทั้งนี้ อุปสรรคสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ในอินโดนีเซียยังคงเป็นบรรยากาศทางธุรกิจในประเทศ ประเทศอินโดนีเซียถูกจัดให้อยู่ในลำดับที่ 109 จาก 198 ประเทศ โดยวัดจากดัชนีการจัดลำดับความยากง่ายในการดำเนินธุรกิจของธนาคารโลก ในขณะที่ประเทศไทยถูกจัดไว้อยู่ที่ลำดับที่ 49 รัฐบาลอินโดนีเซีย ณ กรุงจาการ์ต้า ตั้งเป้าหมายในการปรับปรุงอันดับของอินโดนีเซียให้ขึ้นมาอยู่ที่ 40 ภายในปี 2561 การพัฒนานี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อได้รับความร่วมมือและการมุ่งเน้นจากผู้วางแผนนโยบายในประเทศในระยะยาว นายมาร์คัส ตั้งข้อสังเกตว่า "การพัฒนาที่ผ่านมานั้นได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาล มาตรการผ่อนคลายระเบียบการถือครองของชาวต่างชาติ และ การผ่อนปรนขั้นตอนการขอใบอนุญาตให้มีความคล่องตัวมากขึ้น"