กรุงเทพฯ--18 มี.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
กสอ. เผยศักยภาพอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยานไทยเป็นที่ต้องการในตลาดโลก พร้อมเร่งนโยบายในการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) โดยกำหนดกลยุทธ์การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ ในภาคอุตสาหกรรมของไทย เพื่อรองรับการเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
ดร. สมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาล มีนโยบายในการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) อันเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ ของภาคอุตสาหกรรม ในการก้าวเข้าสู่ยุคของการผลิตด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง ทั้งนี้ กรมส่งเสริม-อุตสาหกรรม ได้ตอบสนองนโยบายดังกล่าว โดยมุ่งเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ใน 4 กลุ่ม ได้แก่ อุตสาหกรรมไบโอพลาสติก อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยาน
สำหรับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยาน เป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากมีอัตราการขยายตัวของธุรกิจการบินทั่วโลก โดยมีการคาดการณ์ว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า จำนวนเครื่องบินโดยสารทั่วทั้งโลกที่มีอยู่ประมาณ 2 หมื่นลำในปัจจุบัน จะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าหรือกว่า 4 หมื่นลำ (ที่มา: กระทรวงคมนาคม) ซึ่ง ไทยมีมูลค่าการส่งออกในอุตสาหกรรมนี้ประมาณ 2.7 พันล้านบาท (ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย) ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่จะสามารถผลิตชิ้นส่วนอากาศยานได้นั้น จะต้องได้รับมาตรฐานการผลิตขั้นสูงที่การบินสากลกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด รวมถึงการได้รับการสนับสนุนและพัฒนาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้อย่างจริงจัง เพื่อช่วยต่อยอดให้ไทยกลายเป็นฐานการผลิตใหญ่ในอาเซียน ให้กับอุตสาหกรรมการบินในอนาคตต่อไปได้
ดร.สมชาย กล่าวต่อว่า กสอ. ได้กำหนดแนวทางในการส่งเสริมกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคตดังกล่าว 3 แนวทาง ได้แก่ด้านผลิตภาพ (Productivity) คือ การมุ่งเน้นการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต คุณภาพแรงงาน การใช้ทรัพยากร รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิต อาทิ การจัดการสต๊อก การลดต้นทุน การฝึกอบรมแรงงาน เป็นต้น ด้านมาตรฐาน (Standard) โดยมุ่งยกระดับอุตสาหกรรมแห่งอนาคตของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และได้รับการรับรองคุณภาพการผลิต อาทิ มาตรฐานISO13485 ซึ่งเป็นระบบบริหารคุณภาพ สำหรับการผลิตเครื่องมือแพทย์ สำหรับผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ที่จัดจำหน่ายในสหภาพยุโรป และมาตรฐาน AS9100 สำหรับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยาน และด้านการสร้างเครือข่ายธุรกิจ (Networking) โดยส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มทางธุรกิจ เช่น การสร้างคลัสเตอร์ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอากาศยาน และการเจรจาธุรกิจกับคู่ค้าจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันในตลาดให้สูงขึ้น
นอกจากนี้ กสอ. ยังมีเป้าหมายสำคัญในการทำให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมแห่งอนาคตใน 2 ด้าน คือOutside In คือ การจูงใจและเอื้ออำนวยให้นักลงทุนหรือคู่ค้าทางธุรกิจ สนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย หรือสั่งผลิตสินค้าภายใต้ตราสินค้าของลูกค้า (OEM) มากขึ้น และ Inside Out คือ การยกระดับผู้ประกอบการไทยให้สามารถผลิตสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคตภายใต้ตราสินค้าของไทยมากขึ้นโดยการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับในตลาดต่างประเทศ ทั้งนี้ ปัจจุบัน กสอ. มีโครงการเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคตหลายโครงการ อาทิ โครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีแห่งอนาคต โครงการพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรม (Clustering) โครงการสร้างเครือข่ายกลุ่มอุตสาหกรรม (Industry Networking) โครงการสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ ดร. สมชาย กล่าวสรุป
ด้าน นายบุญเจริญ มโนบูรชัยเลิศ ประธานกรรมการบริษัท ซี.ซี.เอส. แอดวานซ์ เทค จำกัด กล่าวว่า กลุ่มบริษัท ซี.ซี.เอส. ได้มีการปรับปรุงและพัฒนาการผลิตเพื่อให้ก้าวทันต่อเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่เสมอ เริ่มต้นธุรกิจจากการเป็นโรงกลึงโดยมีการนำเข้าเครื่องจักรที่ทันสมัยระดับโลก และมีการขยายปริมาณและความสามารถในการผลิตอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยกระดับปรับปรุงมาตรฐานในการดำเนินกิจการมาโดยตลอด โดยผลิตสินค้าหลายประเภท อาทิ แม่พิมพ์ โมลด์ดิ้งพาร์ท ส่วนประกอบโทรศัพท์มือถือสมาร์โฟน และชิ้นส่วนโลหะอากาศยาน เป็นต้น ซึ่งตนมีความคิดว่าอยากทำธุรกิจที่คนไทยยังทำไม่ได้สมัยนั้น จึงต้องการยกระดับกิจการของตนเองไปสู่อุตสาหกรรมอากาศยานที่ต้องให้เทคโนโลยีขั้นสูง นั่นคือการเป็นบริษัทที่ผลิตชิ้นส่วนสำหรับอากาศยานป้อนให้กับตลาดทั้งใน อเมริกา ยุโรป และเอเชีย รวมทั้งผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินพาณิชย์ให้กับบริษัทชั้นนำระดับโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นBoeing, Airbus, Rolls Royce, Pratt & Whitney เป็นต้น
นายบุญเจริญ กล่าวต่อว่า การจะผลิตชิ้นส่วนป้อนอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องบิน (Aircraft Manufacturer) ระดับโลกเหล่านี้ได้ จำเป็นต้องผ่านการตรวจสอบมาตรฐานที่แต่ละผู้ผลิตเครื่องบิน และสายการบินกำหนด อาทิ มาตรฐาน AS9100 ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนยุ่งยาก หลายขั้นตอน และมีความเข้มงวดในกระบวนการผลิตสูงมาก จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากสำหรับผู้ประกอบการไทย แต่ ซี.ซี.เอส. ก็สามารถพิสูจน์ตนเองได้ว่าบริษัทสัญชาติไทยก็สามารถพัฒนาคุณภาพกระบวนการผลิตจนมีมาตรฐานระดับโลกได้ ทั้งนี้ ซี.ซี.เอส. มีมูลค่าการส่งออกในส่วนชิ้นส่วนอากาศยานต่อปีประมาณ 350 ล้านบาท หรือมียอดการสั่งผลิตประมาณ 20,000 ชิ้น/เดือน ซึ่งสูงที่สุดสำหรับบริษัทสัญชาติไทยที่มีเจ้าของเป็นคนไทย และถือเป็นความภาคภูมิใจที่บริษัทของผู้ประกอบการไทยสามารถเป็นที่ยอมรับในระดับโลก
นอกจากนี้ กลุ่มบริษัท ซี.ซี.เอส. ยังเป็นธุรกิจในอุตสาหกรรมขั้นสูงสัญชาติไทยที่ริเริ่มธุรกิจด้วยการวางแผนเชิงกลยุทธ์ในระยะยาว และพึ่งตนเองในการประกอบกิจการเป็นส่วนใหญ่ (Organic Growth) โดยได้มีการวางแผนที่จะขยายเครือข่ายในระดับโลกต่อไปในอนาคต พร้อมทั้งมีการนำระบบสากลในอุตสาหกรรมอากาศยานที่เรียกว่า "United Technology Aerospace System" มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ จึงถือว่าเป็นธุรกิจที่ก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคตอย่างเต็มตัว โดยพยายามสร้างความได้เปรียบจากคู่แข่งด้วยการนำเอานวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างโอกาสที่ดีทางธุรกิจ และเป็นเส้นทางที่นำไปสู่ความสำเร็จในระยะยาว ซึ่งเป็นแนวทางที่สำคัญในการบริหารจัดการธุรกิจให้เป็นไปตามเป้าหมาย นายบุญเจริญ กล่าวทิ้งท้าย
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2367 8134 หรือที่ www.dip.go.th หรือwww.facebook.com/dip.pr