กรุงเทพฯ--18 มี.ค.--กรมประมง
กรมประมง แจงช่วยเกษตรกรประสบภัยแล้ง ขณะนี้เดินหน้าแจกปัจจัยการผลิตไปแล้วกว่า 45 % มีเกษตรกร จำนวน 31,685 ราย จาก 15 จังหวัด ที่ได้รับแจกพันธุ์ปลาดุก และกบ พบจากผลการส่งเสริมเลี้ยงเมื่อช่วงแล้งในปี 2558 บางพื้นที่นำไปเลี้ยงจนโตได้ขนาด สามารถนำมาบริโภคและขายได้เงินมาจุนเจือครอบครัวในยามประสบวิกฤตแล้ง บางพื้นที่สามารถนำไปต่อยอดขยายพันธุ์มุ่งทำเป็นอาชีพหลักช่วงพักการทำนา
นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการดำเนิน
กิจกรรมแจกปัจจัยการผลิตและสนับสนุนการส่งเสริมอาชีพด้านการประมง ภายใต้โครงการสร้างรายได้จากประมงในฤดูแล้งของกรมประมง ซึ่งได้รับอนุมัติงบประมาณ จำนวน 163,129,800 บาท ในการช่วยเหลือเกษตรกรเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด (กรุงเทพฯ กำแพงเพชร ฉะเชิงเทรา ชัยนาท ตาก นครนายก นครปฐม นครสวรรค์ นนทบุรี ปทุมธานี พิจิตร พิษณุโลก พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สระบุรี สิงห์บุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี อ่างทอง และอุตรดิตถ์ ที่ได้รับผลกระทบและประสงค์เข้าร่วมโครงการสร้างรายได้จากการประมงในฤดูแล้ง จำนวน 70,926 ราย ว่า ขณะนี้มี 15 จังหวัด ที่คืบหน้าในการดำเนินการช่วยเหลือไปกว่า 45 % ทั้งกิจกรรมส่งเสริมการเลี้ยงปลาดุกในบ่อพลาสติก การเลี้ยงปลาดุกในบ่อดิน และการเลี้ยงกบในกระชัง โดยแต่ละจังหวัดทยอยแจกพันธ์ปลาดุก พันธุ์กบ อาหารสัตว์น้ำ และพลาสติกทำบ่อ รวมถึงการเดินสายจัดอบรมให้คำแนะนำในการเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างเหมาะสมแก่เกษตรกรไปแล้ว จำนวน 31,685 ราย (ข้อมูล ณ 10 มี.ค.59) และมีการติดตามความก้าวหน้าผลการเลี้ยงเพื่อนำมาประเมินทำเป็นข้อมูลรายบุคคลต่อไป ซึ่งเท่าที่ลงพื้นที่ประเมินผล พบว่าผลผลิตสัตว์น้ำ มีอัตราการรอดสูงถึง 80 % และเกษตรกรบางพื้นที่สามารถนำผลผลิตมาบริโภคในครัวเรือนและจำหน่ายสร้างรายได้ตามสมควร บางรายหันมายึดอาชีพเลี้ยงกบแทนการทำนา ทั้งนี้ ส่วนจังหวัดอื่นๆ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2559
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควรปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้
1. ควบคุมการใช้น้ำและรักษาปริมาณน้ำในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำให้มีการสูญเสียน้อยที่สุด อาทิ การหาวิธีป้องกันการรั่วซึม หรือ การทำร่มเงาให้กับบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ
2. ควรวางแผนการเลี้ยง หรือ งดเว้นการเลี้ยงในช่วงที่อากาศแล้งจัด โดยทำการตากบ่อและเตรียมบ่อให้พร้อมไว้เลี้ยงในรอบต่อไป
3. จัดเตรียมแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้เพิ่มเติม
4. จับสัตว์น้ำที่ได้ขนาดขึ้นมาจำหน่ายหรือบริโภค เพื่อลดปริมาณสัตว์น้ำภายในบ่อ
5. ควรปล่อยสัตว์น้ำลงเลี้ยงในปริมาณหนาแน่นน้อยกว่าปกติ และควรเลือกปล่อยขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อลดระยะเวลาในการเลี้ยง
6. ควรงดเว้นการขนถ่ายสัตว์น้ำ เพราะจะทำให้สัตว์น้ำเกิดความเครียดมีผลกับการกินอาหารและการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำโดยตรง
7. ต้องสังเกตอาการต่างๆ ของสัตว์น้ำที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิดหากมีความผิดปกติให้ติดต่อสอบถามหรือขอคำแนะนำได้ที่สำนักงานประมงจังหวัดทุกแห่ง
8. ขอให้ติดตามข่าวสารพยากรณ์อากาศจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และโปรดปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด
ในส่วนของกรมประมง ได้มีการสั่งการให้เจ้าหน้าที่ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและรายงานให้กรมและศูนย์เฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยธรรมชาติของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทราบทุกสัปดาห์ และหากเกิดผลกระทบทางด้านประมงให้เร่งให้ความช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า รวมถึงให้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือได้อย่างรอบด้านและให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยได้มอบหมายให้สำนักงานประมงจังหวัดพิจารณาให้ความช่วยเหลือเกษตรกรโดยใช้เงินทดรองราชการในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ่ายเงินทดรองราชการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2556 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรได้ทันทีตามความจำเป็นและเหมาะสม รองอธิบดีกรมประมง...กล่าว