กรุงเทพฯ--22 มี.ค.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
วันนี้ (๑๘ มี.ค. ๕๙) เวลา ๑๗.๓๐ น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ นายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เปิดเผยว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ได้ดำเนินการจัดระเบียบขอทานมาแล้ว ๗ ครั้ง ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและส่วนภูมิภาค ตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๕๗ - ๑๗ มีนาคม ๒๕๕๙ พบขอทาน รวมทั้งสิ้น ๔,๓๘๑ ราย เป็นขอทานไทย ๒,๘๐๐ ราย ขอทานต่างด้าว ๑,๕๘๑ ราย (ข้อมูล ณ วันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๕๙) โดยขอทานต่างด้าวที่พบมากที่สุดคือ ขอทานจากประเทศกัมพูชา ทั้งนี้ มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีการกลับมาขอทานซ้ำ จากข้อสังเกตที่พบเกี่ยวกับขอทานต่างด้าวที่ถูกส่งตัวกลับ มักจะหลบหนีเข้ามาขอทานซ้ำ โดยส่วนใหญ่จะหลบหนีมาทางช่องทางแนวตะเข็บชายแดน(ด่านธรรมชาติ) และมักจะมาในลักษณะคู่พ่อ / แม่ลูก ส่วนสาเหตุในการมาขอทานส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาความยากจนแนวทางการดำเนินการผลักดันขอทานกัมพูชาส่งกลับประเทศต้นทาง ได้ประสานสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองส่งกลับประเทศ
นายไมตรี กล่าวว่า กระบวนการจัดระเบียบขอทานต่างด้าวดำเนินการ ดังนี้ ๑) มีการเชิญตัวเพื่อบันทึกประวัติการขอทาน หลังจากนั้นนำส่งสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จังหวัดนนทบุรี เพื่อให้การคุ้มครองชั่วคราว ก่อนนำส่งสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อส่งตัวกลับประเทศ ๒) กรณีที่พบว่ามีเด็กร่วมอยู่ด้วย มีการเชิญตัวเพื่อบันทึกประวัติการขอทาน หลังจากนั้นนำส่งสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดนนทบุรี เพื่อให้การคุ้มครองชั่วคราว และตรวจสอบความสัมพันธ์ DNAหากมีความสัมพันธ์ตรงกัน ก็จะนำส่งสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อส่งตัวกลับประเทศต่อไป หากความสัมพันธ์ DNA มีความขัดแย้งกัน จะประสานกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ เพื่อนำตัวเข้าสู่กระบวนการต่อไป
นายไมตรี กล่าวต่อไปว่า สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาขอทานต่างด้าว กระทรวงการพัฒนาสังคมฯโดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ(พส.) ได้ดำเนินการดังนี้ ๑) บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมแก้ปัญหาขอทานต่างด้าวร่วมหารือแนวทางป้องกัน และแก้ไขปัญหาขอทานต่างด้าวในมิติต่างๆ ๒) มีแผนเตรียมการจะจัดทำบันทึกข้อตกลงเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการขอทาน กับองค์การเฟรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และประเทศกัมพูชา ในเรื่องการปกป้องคุ้มครองไม่ให้กลุ่มเป้าหมาย (เด็กและเยาวชนรวมถึงครอบครัวชาวกัมพูชาและเด็กด้อยโอกาส) ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ และกระบวนการนำเด็กและมารดากลับคืนสู่ครอบครัวและสังคมอย่างยั่งยืน โดยส่งเสริมให้มีการฝึกอาชีพที่เหมาะสม สามารถดูแลตัวเองและครอบครัวได้เมื่อกลับคืนสู่ภูมิลำเนา ๓) สร้างการรับรู้และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสังคม ตามแนวทาง"ให้ทานถูกวิธี ลดวิถีการขอทาน" และรณรงค์เรื่องหยุดการขอทาน และ ๔) เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ การประสานส่งต่อความช่วยเหลือการแจ้งเหตุ การเฝ้าระวังและเตือนภัยระหว่างหน่วยงานภายในกระทรวงฯ และระหว่างภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง
"กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มีความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาการขอทานอย่างยั่งยืน โดยบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วน เพื่อให้คนขอทาน ได้รับการพัฒนาศักยภาพ สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้ และไม่กลับมากระทำการขอทานซ้ำ ซึ่งทำให้บุคคลเหล่านี้ได้รับการยอมรับในคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมในสังคม พร้อมทั้งสร้างการรับรู้และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสังคม ตามแนวทาง "ให้ทานถูกวิธี ลดวิถีการขอทาน" และรณรงค์เรื่องหยุดการขอทานอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากพบเห็นคนไร้ที่พึ่ง ขอทาน สามารถแจ้ง ศูนย์ช่วยเหลือสังคม OSCC โทร. ๑๓๐๐ตลอด ๒๔ ชั่วโมง" นายไมตรี กล่าวในตอนท้าย