กรุงเทพฯ--22 มี.ค.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
วันนี้ (๑๘ มี.ค. ๕๙) เวลา ๑๗.๐๐ น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ นายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เปิดเผยว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาขอทานแบบยั่งยืนตามหลัก ๓P ประกอบด้วย
๑) Policy : ด้านนโยบาย ได้แก่ การขับเคลื่อน พ.ร.บ. การคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. ๒๕๕๗ การเสนอ (ร่าง) พ.ร.บ. การควบคุมขอทาน ซึ่งที่ผ่านมาที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างนายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธยให้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย และมีผลบังคับใช้ ๙๐ วัน นับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา นโยบายการจัดระเบียบคนขอทานเน้นย้ำการดูแลไม่ให้มีขอทานเด็ก และการขับเคลื่อนกองทุน
เพื่อพัฒนาคนไร้ที่พึ่งคนขอทาน
๒) Protection : การคุ้มครอง ช่วยเหลือ ได้แก่ การพัฒนาโครงการธัญบุรีโมเดล การส่งต่อคนไร้ที่พึ่ง ขอทานเข้าสู่โครงการบ้านน้อยในนิคม การต่อยอดความร่วมมือกับ Social Enterprise การจัดทำ MOU ร่วมกับเทศบาลเมืองนครและพัทยา งานสถานีสวัสดิการครัว พม. และบ้านมิตรไมตรีนำร่อง ๔ ภาค ทั้งนี้ เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาได้มีพิธีเปิดอุทยานรีไซเคิล และ SE (Social Enterprise) และลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือในการดำเนินงานอุทยานรีไซเคิล ระหว่างกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ(พส.)กับบริษัทวงษ์พาณิชย์ บริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด (มหาชน) วิทยาลัยเทคนิคธัญบุรี องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี เทศบาลนครรังสิต และเทศบาลตำบลธัญบุรี รวมทั้งภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พระราชธรรมนิเทศ (พระพยอม กัลยาโณ) เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพคนไร้ที่พึ่งและคนขอทาน โดยจะขยายผลให้ครอบคลุมสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งทั้ง ๑๑ ทั่วประเทศ
และ๓) Prevention : การป้องกัน ได้แก่ การรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อแก้ไขปัญหาการขอทานที่ยั่งยืนเพื่อสร้างพลังการมีส่วนร่วมตามแนวคิด "ให้ทานถูกวิธี ลดวิถีการขอทาน" การบูรณาการการทำงานร่วมกับเครือทุกภาคส่วน การศึกษาปัญหาขอทานต่างด้าว และ "กระโพ โมเดล" ต้นแบบแก้ไขปัญหาขอทานคนไทย
"กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มีความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาการขอทานอย่างยั่งยืน โดยบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วน เพื่อให้คนขอทาน ได้รับการพัฒนาศักยภาพ สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้ และไม่กลับมากระทำการขอทานซ้ำ ซึ่งทำให้บุคคลเหล่านี้ได้รับการยอมรับในคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมในสังคม พร้อมทั้งสร้างการรับรู้และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสังคม ตามแนวทาง "ให้ทานถูกวิธี ลดวิถีการขอทาน" และรณรงค์เรื่องหยุดการขอทานอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากพบเห็นคนไร้ที่พึ่ง ขอทาน สามารถแจ้ง ศูนย์ช่วยเหลือสังคม OSCC โทร. ๑๓๐๐ตลอด ๒๔ ชั่วโมง" นายไมตรี กล่าวในตอนท้าย