กรุงเทพฯ--22 มี.ค.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
วันนี้ (๒๑ มี.ค. ๕๙) เวลา ๑๕.๓๐ น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ตนเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมพิธีเปิดงานประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรี สมัยที่ ๖๐ (CSW 60) โดยมีพลตำรวจเอก สุวัฒน์ จันทร์อิทธิกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และนายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงาน เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๙ ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งในการนี้ ตนได้รับเกียรติให้กล่าวถ้อยแถลงเป็นลำดับแรก ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประธาน กลุ่มประเทศ ๗๗ โดยได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในการพัฒนาสตรีและการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ อันเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาสังคมและพัฒนาโลกให้มีความยั่งยืน ซึ่งไม่อาจบรรลุเป้าหมายได้ ถ้าประชากรครึ่งหนึ่งของทั้งโลก ซึ่งเป็นสตรีถูกเลือกปฏิบัติ เกิดความไม่เป็นธรรม และยังขาดโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการและทรัพยากร ดังนั้น การพัฒนาประเทศจะต้องคำนึงถึงสตรีและสนับสนุนความเป็นผู้นำของสตรีเพื่อรับประกันว่าสตรีมีส่วนร่วมในทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง อีกทั้ง ยังได้เน้นย้ำถ้อยแถลงของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าความเสมอภาคระหว่างเพศไม่ใช่เรื่องของสตรีอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของบุรุษเช่นเดียวกัน ดังนั้น บุรุษจำเป็นต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาเพื่อสังคมที่พัฒนาย่างยั่งยืนและสงบสุข
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า จากนั้น ตนพร้อมคณะผู้แทนไทยได้พบปะหารือกับนาง ฟาม ทิ เจวี่ยน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ทหารผ่านศึก และกิจการสังคมของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม พร้อมทั้งได้กล่าวขอบคุณสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามในฐานะเจ้าภาพจัดงาน ASEAN Women Entrepreneurs Forum ครั้งที่ ๒ ระหว่างวันที่ ๔-๕ มีนาคม ที่ผ่านมา ซึ่งได้มีการมอบรางวัลผู้ประกอบการสตรีดีเด่นให้แก่ผู้ประกอบการสตรีไทย ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ทหารผ่านศึก และกิจการสังคมของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ได้กล่าวขอบคุณประเทศไทยที่ให้ความร่วมมือมาโดยตลอดโดยเฉพาะการดำเนินงานด้านการป้องกันการค้ามนุษย์ และจะพัฒนาความสัมพันธ์อันดีกับของประเทศไทยให้มี ความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังได้พบปะหารือกับนายเอมมานูเอล คาร์ปารัส ผู้แทนกระทรวงยุติธรรมของฟิลิปปินส์ ในประเด็นหลักเกี่ยวกับเรื่องการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ โดยตนได้กล่าวสรุปผลความก้าวหน้าการดำเนินงานของประเทศไทย ในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ด้วยการประสานความร่วมมือ การบูรณาการการทำงานร่วมกับหลายภาคส่วน และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การบริหารจัดการที่ต้องมีความรวดเร็วและคล่องตัว ซึ่งนายเอมมานูเอลได้กล่าวชื่นชม พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่สำคัญ อีกทั้งพร้อมที่จะร่วมมือในการแก้ปัญหาดังกล่าวต่อไป
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ที่ผ่านมา ตนได้เป็นประธานและกล่าวเปิด "กิจกรรมคู่ขนานในการประชุม CSW สมัยที่ ๖๐ เรื่อง วิสัยทัศน์สู่การยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก" จัดโดย ดร. สายสุรี จุติกุลผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถานภาพสตรีแห่งชาติ (กยส.) ณ ห้องประชุม Conference Room 11 สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ในการนี้ ตนได้เน้นย้ำความก้าวหน้าและความสำเร็จของประเทศไทยในการเป็นผู้ริเริ่ม การจัดทำแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคว่าด้วยการยุติความรุนแรงต่อสตรี และนโยบายและแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคว่าด้วยการยุติความรุนแรงต่อเด็กในระดับอาเซียน ซึ่งได้ผ่านการรับรองในที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งแผนปฏิบัติการดังกล่าวสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการที่จะขจัดปัญหาความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก อีกทั้งยังแสดงให้เห็นความเป็นผู้นำของประเทศไทยในการดำเนินการด้านสตรีในระดับอาเซียน
"ทั้งนี้ จากการเข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรี สมัยที่ ๖๐ และภารกิจการความร่วมมือกับ นานาประเทศในเวทีระดับโลกในครั้งนี้ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นับว่าประเทศไทยได้แสดงให้นานาประเทศได้เห็น ความมุ่งมั่นและความตั้งใจของประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาการกระทำความรุนแรงต่อสตรีในทุกรูปแบบ และการส่งเสริมความเข้มแข็งของสตรีและความเสมอภาคระหว่างเพศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินงานเรื่องสิทธิมนุษยชน และการพัฒนา ที่ยั่งยืนที่ประเทศไทยให้ความสำคัญมาโดยตลอด" พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวในตอนท้าย